พาราสาวะถี อรชุน
แถลงข่าวพร้อมโพสต์เฟซบุ๊คชี้แจงถึงข้อห้ามและไม่ห้ามของ กกต. ในการทำประชามติ หลังจากไปจำแนกแยกแยะเนื้อหาของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 แล้ว คนก็ยังไม่เข้าใจสิ่งที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อธิบายอยู่ดี ยิ่ง ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. มาสำทับยิ่งไปกันใหญ่ การบอกว่าทุกอย่างจะต้องไปจบที่ศาลเลยเป็นภาพสะท้อนความไม่เอาไหน การไม่ใส่ใจในหน้าที่ของ กกต.ชุดนี้ได้เป็นอย่างดี
แถลงข่าวพร้อมโพสต์เฟซบุ๊คชี้แจงถึงข้อห้ามและไม่ห้ามของ กกต. ในการทำประชามติ หลังจากไปจำแนกแยกแยะเนื้อหาของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 แล้ว คนก็ยังไม่เข้าใจสิ่งที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อธิบายอยู่ดี ยิ่ง ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. มาสำทับยิ่งไปกันใหญ่ การบอกว่าทุกอย่างจะต้องไปจบที่ศาลเลยเป็นภาพสะท้อนความไม่เอาไหน การไม่ใส่ใจในหน้าที่ของ กกต.ชุดนี้ได้เป็นอย่างดี
จะด้วยที่มาจากศาลหรือเปล่าไม่ทราบ เลยทำให้ศุภชัยและชาวคณะจึงดำเนินการเรื่องต่างๆ ไปด้วยความหวาดระแวง ไม่ยอมใช้อำนาจของตัวเองที่มีอย่างเต็มที่ ตั้งแต่คราวทำตัวไม่อยากจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 และปล่อยให้มีการละเมิดอำนาจตัวเองด้วยการปิดกั้นหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องผิดกฎหมายเห็นๆ แต่ กกต.ชุดนี้ก็จะเลือกให้ทุกอย่างไปจบที่ศาลอยู่ดี
ด้วยเหตุนี้ กษิต ภิรมย์ คนกันเองจึงแสดงความไม่พอใจในการอภิปรายต่อที่ประชุมสปท.เมื่อวันวาน โดยเสนอให้สปท.เชิญกกต. มาอธิบายเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะภาพที่ออกมามีการไปฟ้องร้องประชาชน ซึ่งดูเหมือนว่า กกต.มีหน้าที่หลักคือดูว่ามีการละเมิดกฎหมายใช่หรือไม่ แทนที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจในการลงประชามติ รวมทั้งจัดเวทีที่จะอธิบายเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อช่วยกันเสริมสร้างความปรองดองในชาติร่วมกัน แต่ปรากฏว่าองค์กรที่ต้องทำหน้าที่เป็นกลาง กลับไปฟ้องร้องประชาชนทำให้ภาพที่ปรากฏไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ซึ่งความเห็นของกษิตนั้นน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ เสรี สุวรรณภานนท์ ที่แสดงความเป็นห่วงว่าการอธิบายของ กกต. ต่อสิ่งไหนทำได้ทำไม่ได้ในการทำประชามติ จะยิ่งสร้างปัญหา ยิ่งตีความขยายความ ยิ่งจะทำให้คนสับสนมากขึ้น
ไปๆ มาๆ ยิ่งแนะนำ ยิ่งอธิบาย จะยิ่งสับสนวุ่นวายไปกันใหญ่ ดีที่สุดคือ ยึดหลักกฎหมาย หรือหากจะแนะนำก็ควรอธิบายกฎหมายเป็นรายข้อหรือรายมาตราน่าจะชัดเจนและเข้าใจง่ายกว่า ด้วยเหตุนี้เสรีจึงจะนำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของสปท. เพื่อกำหนดท่าทีต่อไป
ในมุมของนักกฎหมายที่น่าสนใจอีกประการคือ ที่ กกต.ระบุว่า การแจกเอกสาร ใบปลิว แผ่นพับ เพื่อแสดงจุดยืน หรือการรายงานข่าว การจัดรายการของสื่อมวลชนให้ทำได้แต่ต้องปราศจากอคติ หมายความว่าอย่างไร อคติหรือไม่ใครกำหนด เพราะคำว่าอคติของการให้รับหรือไม่รับจะแยกแยะอย่างไร หรือจะให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดเมื่อเกิดเป็นคดีแล้ว
ขณะที่ สมพงษ์ สระกวี สปท.อีกรายมองว่า หลักเกณฑ์ของ กกต. ที่ออกมาเหมือนของเด็กเล่น มีข้อห้ามมากมาย ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และไม่ช่วยสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ทั้งที่หลักการทำประชามติต้องรับฟังความเห็นของประชาชน หลักเกณฑ์ที่ออกมาทุกข้อดูแล้วยังคลุมเครือ จะมีความผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่าจะตีความแบบหาเรื่องหรือไม่
เช่นเดียวกับ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ให้คะแนนหลักเกณฑ์ของ กกต. ได้แค่เกรด D สำหรับการสอบระดับประถมคือผ่านแบบอ่อนมาก ก่อนที่จะอธิบายว่าที่ยังให้ผ่านเพราะอย่างน้อยยังทำให้เห็นว่าการแสดงความเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นนั้นทำได้ ไม่ใช่อย่างที่มีการพูดกันปาวๆ ราวกับว่าใครก็พูดอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะการไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้มีอำนาจพูดเหมือนกับแสดงความเห็นไม่ได้เลย
สิ่งที่เชื่อว่าหลายคนเห็นตรงกัน นั่นก็คือ หลักเกณฑ์นี้มีปัญหาที่เน้นเรื่องทำไม่ได้มากกว่าทำได้ เรื่องที่ควรจัดไว้ในประเภททำได้หลายข้อก็กลับเอาไปไว้ในประเภททำไม่ได้ เปิดช่องให้มีการตีความผิดๆ ในทางจำกัดเสรีภาพได้ง่าย มากไปกว่านั้น กกต.ยังกล้าที่จะบอกว่าการแสดงความเห็นต้องไม่กำกวม ทั้งๆ ที่หลักเกณฑ์หลายข้อของ กกต. กลับกำกวมเสียเอง
คงไม่ต่างจาก องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่า เป็นการออกหลักเกณฑ์ที่ยังไม่สามารถทำให้กฎหมายประชามติมีความชัดเจนปราศจากข้อสงสัยได้ บางข้อความในกฎหมายยังมีความคลุมเครือที่อาจถูกนำไปใช้ตีความเพื่อให้คุณและให้โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ตลอดเวลา ไม่สามารถตอบโจทย์ได้เท่าที่ควร
ที่ต้องขีดเส้นใต้ในความเห็นนี้คงเป็นประเด็นการตีความเพื่อให้คุณและให้โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าฝ่ายสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ฝ่ายที่ไม่รับน่าจะเจอกระบวนการศรีธนญชัยสารพัด ตรงนี้แหละที่จะเป็นบทพิสูจน์ความเป็นกลางของ กกต.เอง หรือว่านี่เป็นวิธีการที่จะเรียกศรัทธาให้กลับมา หลังจากที่ความน่าเชื่อถือตกต่ำเป็นสาละวันเตี้ยลงนับตั้งแต่มาปฏิบัติหน้าที่
กล่าวโดยสรุปก็คือ หลักเกณฑ์ของ กกต. ย่อมทำให้ผู้ที่มีความเห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงสื่อมวลชนที่อาจต้องทำหน้าที่บนความไม่แน่นอน ถึงแม้จะปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพด้วยความรับผิดชอบแล้วก็ตาม การที่จะฝากความหวังให้ กกต.ช่วยพิจารณาว่าจะมีหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจนขึ้นอย่างไร คงเป็นเรื่องยากหากพิจารณาจากท่าทีของประธาน กกต.
แต่จะว่าไปแล้วก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูท่าทีของท่านผู้นำที่ขู่ฟ่อดๆ เรื่องกฎหมายมีโทษสูงสุด รวมไปถึงการใช้อำนาจพิเศษในการจัดการกลุ่มเห็นต่าง เป็นผลให้องคาพยพอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ได้ชื่อว่าอิสระ เลยต้องทำตัวไม่อิสระไปด้วย นั่นเป็นเพราะ หากไม่ทำตัวเป็นหลิวลู่ลมอาจจะกระทบต่อตำแหน่งแห่งหนที่ดำรงอยู่ในเวลานี้ก็เป็นได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรอิสระ
อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจอย่างเข้มข้นและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอาจส่งผลให้คนส่วนใหญ่กลัวจนไม่กล้าแสดงตัวเป็นปรปักษ์กับ คนส่วนใหญ่ พร้อมที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกหัวหด แต่ต้องอย่าลืมว่าในขณะที่คนส่วนใหญ่เกิดความกลัวนั้น ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งไม่กลัว ซึ่งก็คือพวกที่ถูกทำให้กลัวจนเลิกกลัวและแปรสภาพเป็นความกล้าแทน กลุ่มนี้แหละที่ผู้มีอำนาจต้องกลัว กลัวถึงขั้นต้องทางจำกัดและบางรายอาจต้องถึงขั้นกำจัดไปให้พ้นทางไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม คนพวกไหนกันที่เป็นแบบนี้เชื่อว่าทุกคนมีคำตอบอยู่แล้ว