CPF:หุ้นถูกในช่วงภาวะกำไรขาขึ้นแนะนำซื้อราคาเป้าหมาย 30 บาท
CPF เชื่อว่าราคาหุ้น ณ ปัจจุบันของ CPF ที่อัตราส่วน PER ปี 2559 ที่ 14.9 เท่า และอัตราส่วน PER ปี 2560 ที่ 13.4 เท่า ถือว่ายังคงอยู่ในระดับที่ถูกในช่วงที่กำไรของ CPF จะกลับมาเป็นช่วงขาขึ้นอีกครั้งหนึ่งแนะนำซื้อราคาเป้าหมาย 30 บาท
บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (3 พ.ค.) ว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เชื่อว่าราคาหุ้น ณ ปัจจุบันของ CPF ที่อัตราส่วน PER ปี 2559 ที่ 14.9 เท่า และอัตราส่วน PER ปี 2560 ที่ 13.4 เท่า ถือว่ายังคงอยู่ในระดับที่ถูกในช่วงที่กำไรของ CPF จะกลับมาเป็นช่วงขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง (ซึ่งจะคล้ายกับในช่วงไตรมาส 2-3/57 ซึ่งบริษัทรายงานกำไรหลักรายไตรมาสที่ไตรมาสละ 2.9-3 พันล้านบาท)
ซึ่งคิดว่าราคาหุ้นเหมาะสมที่จะกลับไปซื้อขายกันที่ PER ที่ 21.3 เท่าอีกครั้ง (หรือคิดเป็นส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) บวก 1 เท่าเหนือค่าเฉลี่ย PER ระยะยาวของหุ้น) ถ้าอ้างอิงอัตราส่วนPER ดังกล่าว ราคาเป้าหมายของ CPF จะอยู่ที่ 34 บาท
ทำการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2559-60 เพิ่มขึ้นอีก 6% และปรับราคาเป้าหมายของ CPF (ซึ่งประเมินด้วยวิธี DDM) เพิ่มขึ้นอีก 7% (มาอยู่ที่ 30 บาท) เพื่อสะท้อนสมมติฐานใหม่ของราคาหมูในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม (เนื่องจากอุปทานหมูที่ขาดแคลน ณ ปัจจุบันและอุปสงค์หมูมีชีวิตส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ) และราคาข้าวโพดในประเทศที่ปรับลดลงจากเดิม (โดยราคาข้าวโพดในประเทศยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจนถึง ณ ปัจจุบัน)
คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/59 ที่ 3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 64% เทียบไตรมาสก่อนหน้าถ้าไม่รวมกำไรจากการเทรดดิ้งหุ้น CPALL เราคาดกำไรหลักที่ 1.25 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 115%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 363 % เทียบไตรมาสก่อนหน้ากำไรหลักที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากธุรกิจกุ้งไทยที่ขาดทุนลดลงอย่างมาก มาร์จิ้นของธุรกิจปศุสัตว์ที่ปรับตัวดีขึ้น (จากราคาหมูในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนข้าวโพดและกากถั่วเหลืองที่ลดลง) การรวมงบของ S&W เข้ามาเต็มไตรมาส และส่วนกำไรจาก CPALL ที่เพิ่มขึ้น กำไรที่เพิ่มขึ้น
ก้าวกระโดด เทียบไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากธุรกิจกุ้งไทยที่ขาดทุนลดลง ผลขาดทุนของตุรกีและอินเดียที่ลดลง มาร์จิ้นของธุรกิจปศุสัตว์ที่ดีขึ้น (จากราคาไก่ในประเทศทีเพิ่มขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบที่ทรงตัว) การรวมงบของ S&W เข้ามาเต็มไตรมาส (เทียบกับการรวมงบของ S&W เข้ามาแค่หนึ่งเดือนในไตรมาส 4/58) และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ลดลงตามฤดูกาล เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 1/59 ที่ 15% เทียบกับ 12.5% ในไตรมาส 1/58 และ 14.2% ในไตรมาส 4/58
คาดขาดทุนจากการดำเนินงาน (operating loss) สำหรับธุรกิจกุ้งไทย 200 ล้านบาทในปี 2559 ลดลง 88%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนถ้าเทียบกับขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.64 พันล้านบาทในปี 2558 และคาดธุรกิจกุ้งไทยจะกลับมาเป็นกำไรสุทธิ (กำไรบรรทัดสุดท้าย) ตั้งแต่ไตรมาส 3/59 เป็นต้นไป เนื่องจากผลผลิตกุ้งของทั้งอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมาตรการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน เราประเมินว่าในฐานะที่ CPF เป็นผู้ผลิตกุ้งครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ CPF จะได้รับประโยชน์มากที่สุดเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นจากมาร์จิ้นที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงภาวะที่เป็นช่วงขาขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจกุ้ง
ประเมินว่าราคาหมูในประเทศที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 76-78 บาทต่อกก.เนื่องมาจากภาวะความเสียหายของอุปทานหมู ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดมาก ส่งผลให้เกิดโรคระบาดในหมู รวมถึงปัญหาภัยแล้งในต่างจังหวัดและการขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อการทำฟาร์มหมูโดยตรง เรายังคาดว่าราคาไก่ในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าเนื่องจากสัญญาณของการปรับเพิ่มขึ้นของราคาลูกเจี๊ยบและการคาดการณ์ความเสียหายของอุปทานไก่หรือผลผลิตที่ลดลง จากสภาพอากาศที่ร้อนมาก