เปลี่ยนตัวเองเป็นเป้าใหญ่ทายท้าวิชามาร

4 เดือนของการทำประชามติ นับจากนี้ไปถึงวันที่ 7 สิงหาคม กลับไม่ใช่ช่วงเวลาที่คนไทยจะถกเถียงกันในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ส่งผลอย่างไร ควรรับหรือไม่รับ


ใบตองแห้ง

 

4 เดือนของการทำประชามติ นับจากนี้ไปถึงวันที่ 7 สิงหาคม กลับไม่ใช่ช่วงเวลาที่คนไทยจะถกเถียงกันในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ส่งผลอย่างไร ควรรับหรือไม่รับ

เพราะการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ตามการตีความของ กกต. “กฎเหล็ก” 6 ข้อ 8 ข้อ ทำให้ไม่มีใครกล้าแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่เงียบสงบ กลับกลายเป็นรุมวิพากษ์วิจารณ์ กกต. กฎกติกา การใช้อำนาจและกลไกรัฐ การ “ชี้แจงข้อดี” แต่ฝ่ายเดียวของ กรธ. ซึ่งใช้อาสาสมัครมหาดไทย สาธารณสุข 3 แสนกว่าคน

รวมถึงท่าทีของ คสช.ที่ตีความก่อน กกต.เสียอีกว่า ใส่เสื้อก็ไม่ได้ ชี้นำก็ไม่ได้ แจกใบปลิวก็ไม่ได้ ฯลฯ ใครก่อความวุ่นวายจะจัดการ ขณะที่ตัวท่านแสดงออกอย่างไม่ปิดบังว่า “ขอเวลาอีก 5 ปี”

นี่เท่ากับเปลี่ยนเป้าความขัดแย้งจากตัวร่างรัฐธรรมนูญ มาวิพากษ์วิจารณ์กฎกติกาประชามติ วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจกับคนเห็นต่าง คนไม่รับร่าง ว่ารัฐบาล คสช. ตำรวจ ทหาร จะเป็นกลาง เป็นธรรม ยุติธรรม หรือกลั่นแกล้งปราบปราม

พูดอีกอย่างคือ  กระแสวิจารณ์จะเปลี่ยนเป้าจากผู้เฒ่ามีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ ให้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญตามสะดวก เพราะจะหันไปวิจารณ์ กกต. และรัฐบาล คสช. แทน

เพราะอย่าลืมว่า นอกจากออกกฎคลุมเครือ จนคณะผู้แทนอียูถาม อะไรคือสุภาพ อะไรคือหยาบคาย (ต้องเปิดพจนานุกรมไหม) กกต.ยังปัดว่าตัวเองไม่มีอำนาจวินิจฉัยความผิดเบื้องต้น ฉะนั้น ใครพบเห็นและคิดว่าเป็นการทำผิด ก็ไปแจ้งตำรวจได้เลย

ใครก็แจ้งจับกันได้ ยังไม่รู้จะวุ่นวายแค่ไหน ในยุคสมัยที่ยืนเฉยๆ ก็มีความผิด โพสต์อิทโดน พ.ร.บ.รักษาความสะอาด กฎเหล็ก กกต.ทำอะไรก็ลำบากอยู่แล้ว ถ้าตำรวจใช้อำนาจตีความอย่างกว้าง กระแสวิจารณ์ก็จะพุ่งมาที่ตำรวจและรัฐบาล

นี่ยังไม่นับการใช้อำนาจ คสช. ม.44 ซึ่งต่อให้เป็นสิ่งที่ กกต.รับประกันว่าทำได้ ถูกต้องตามกฎหมายประชามติ แต่ถ้าขัดขืนคำสั่ง คสช.ก็ “ผิดกฎหมาย” อยู่ดี

ภาวะขัดแย้งที่เปลี่ยนไปนี้น่าคิด ว่าคิดถูกหรือคิดผิด เพราะถ้าคิดว่าชาวนากับคนตัดหญ้าไม่เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ แล้วถ้า กรธ.มีโอกาสชี้แจง “ข้อดี” ข้างเดียวโดยฝ่ายไม่รับไม่สามารถรณรงค์จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ก็ขอเตือนว่าคิดผิด เพราะประการแรก ร่างรัฐธรรมนูญมี 279 มาตราก็จริง แต่สาระสำคัญอยู่ที่เรื่องวุฒิสภาจากสรรหามีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งประเทศไทยเลิกใช้ไป 30 กว่าปี เป็นประเด็นที่ฝ่ายไม่รับไม่ต้องรณรงค์ให้เหนื่อยยาก

ประการที่สอง นี่จะทำให้ประชาชนเปลี่ยนจากการตัดสินใจด้วยเนื้อหา มาตัดสินใจด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ คือแบ่งขั้วแบ่งสี ใครรักทักษิณไปทางโน้น ใครเกลียดทักษิณมาทางนี้ แต่อย่าลืมว่ามีปัจจัยเพิ่ม เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่รับคำถามพ่วง ไม่เห็นด้วยร่างรัฐธรรมนูญ บางกลุ่มที่เคยหนุนเช่น NGO ก็บอกไม่รับ

ประเด็นสำคัญคือ เป็นการเอาประชามติมาเสี่ยงอยู่บนกระแสการเมือง ซึ่งพลิกผันง่ายและอาจบานปลายกว่าผลประชามติ เพราะประชามติยังตัดสินกันแค่รับ-ไม่รับ แต่ถ้ากระแสพลิกกลับ กลายเป็นเห็นว่า “ไม่แฟร์” นี่เรื่องใหญ่กว่า “ไม่รับ” เยอะเลยนะครับ

                                                                                                                

Back to top button