ล้างบ้านยังไม่เสร็จ พลวัต 2016
รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนยุคหลังเหมา เจ๋อตง มีจุดเด่นอยู่ข้อหนึ่งที่ผิดกับรัฐบาลเผด็จการทั้งหลายในโลกคือ สามารถปรับวิสัยทัศน์และกรอบคิดได้ตามสถานการณ์อย่างดีเยี่ยม แม้จะไม่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็น ก็สามารถทำได้
วิษณุ โชลิตกุล
รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนยุคหลังเหมา เจ๋อตง มีจุดเด่นอยู่ข้อหนึ่งที่ผิดกับรัฐบาลเผด็จการทั้งหลายในโลกคือ สามารถปรับวิสัยทัศน์และกรอบคิดได้ตามสถานการณ์อย่างดีเยี่ยม แม้จะไม่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็น ก็สามารถทำได้
เมื่อวานนี้ ดัชนีตลาดหุ้นจีนร่วงลงอย่างหนัก ถึง 81 จุด ลงสู่ระดับเหนือ 2,800 จุดเล็กน้อย สวนกับตลาดหุ้นทั่วโลกด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ 1) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าในตลาดที่เพิ่งเปิดมาไม่นานร่วงลงอย่างหนัก 2) ทางการจีนออกมาย้ำว่า ปัญหาหนี้เน่าคงค้างในระบบการเงินของประเทศต้องเร่งสะสางก่อนจะเรื้อรัง
ทั้งสองเรื่องโยงใยเข้าเป็นเนื้อเดียวกันอย่างลึกซึ้ง นั่นคือ มีการนำเอาเงินที่ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังปรับโครงสร้างจากการพึ่งพาส่งออกและการลงทุน มาสู่การบริโภคภายในและภาคบริการ ไปใช้ในทางที่ไม่เกิดผลต่อการปฏิรูป แต่นำไปสร้างราคาในตลาดเก็งกำไร และสร้างให้ในระบบเพิ่มพูนขึ้น
คำกล่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ของโฆษกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ออกมายอมรับว่า ความเสี่ยงจากหนี้สินท่วมระบบการเงินของจีนเป็นสิ่งที่น่ากังวล ทั้งของรัฐบาลจีนและของชาวโลก และระบุว่า การขยายธุรกิจที่เกินตัวด้วยการก่อหนี้ แล้วหมักหมมไว้ในระบบการเงินเป็น “บาปบริสุทธิ์”ในปัจจุบัน
แนวทางของการแก้ปัญหาจากนี้ไป จึงอยู่ที่ชะลอการให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะสั้น และการกระตุ้นทางการเงินเฉพาะหน้า “ลูบหน้าปะจมูก” แต่มุ่งปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง
คำกล่าวดังกล่าว ทำให้นักเก็งกำไรพากันหนาวๆร้อนๆทั่วหน้า แล้วออกแรงขายกระหน่ำ เพราะเกรงว่าจากนี้ไปจะกลายเป็น “ตราบาป”ที่ถูกไล่บี้ในภายหน้าได้
การที่ทางการจีนยอมรับสภาพว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของกลไกเศรษฐกิจ จำต้องยินยอมให้ตลาดหุ้นปรับตัวเข้าสู่ข้อเท็จจริงของฐานะทางการเงินกิจการ ไม่ใช่ตั้งเป้าเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปล้างผลาญเพื่อพยุงหุ้น เหมือนในปีก่อน
มาตรการพยุงหุ้นของธนาคารกลางจีน เพื่อรักษาหน้าตาผู้นำประเทศ ได้เคยถูกวิจารณ์ในระดับโลกว่า เป็นการนำไปสู่ความยุ่งยากมากขึ้น ถึงขนาดที่ นายโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนดัง ออกมาพูดว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน แม้จะยังมีอัตราเติบโตของจีพีดี ที่ระดับใกล้เคียงกับ 7% หรือต่ำกว่าไม่มาก และคำพูดของ หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนที่ว่า จีนจะไม่มีวันเผชิญกับภาวะฮาร์ด แลนดิ้ง แม้ยังคงใช้การได้ แต่จีนยังไม่ได้แก้ปัญหา “ภูเขา 3 ลูกของเศรษฐกิจจีน” ซึ่งจะรบกวนเศรษฐกิจและการเงินจีนอีกยาวนานหลายปีข้างหน้า
ภูเขา 3 ลูกดังกล่าว คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 3 ด้านที่ยังไม่แล้วเสร็จและยังไม่สามารถการันตีความสำเร็จ ได้แก่ 1) การปฏิรูปสถาบันการเงินเพื่อล้างบ้าน 2) ปรับโครงสร้างให้สมดุล แต่ยังรักษาการเติบโตต่อเนื่อง 3) ปล่อยค่าหยวนลอยตัวตามความจริง
ที่ผ่านมา ปัญหาข้อที่ 3 ได้รับการแก้ไขไปแล้ว เมื่อค่าเงินหยวนจีนได้เข้าคำนวณในตะกร้าของกองทุนการเงินระหว่างประเทศไปแล้ว ส่วนข้อที่ 2 แม้ดำเนินการไปแล้วบางอย่าง แต่ผลลัพธ์จะต้องรอดูอีกหลายปีข้างหน้า จะมียกเว้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเลยคือ ข้อแรก
ที่ผ่านมา นับแต่จีนเริ่มนำเอาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลของเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่ว่า “แมวสีอะไร ขอให้จับหนูได้” เพื่อพัฒนาพลังการผลิต จนกระทั่งจีนเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีส่วนทำให้จีนที่ปัจจุบันมีอัตราส่วนของจีดีพีมากถึง 15% ของเศรษฐกิจโลก เผชิญหน้ากับปัญหา “ดินพอกหางหมู” ที่เรื้อรัง ด้วยการการมีหนี้ 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 282% ของจีดีพีประเทศจีนโดยรวม
รากฐานของภาระหนี้ที่ท่วมประเทศอยู่นี้ เกิดจากการที่รัฐจีน ประนีประนอมให้เศรษฐกิจจีนโตด้วยการก่อหนี้ แบบทุนนิยม โดยไม่แยแสอย่างจริงจังกับการปฏิรูปสถาบันการเงิน และการปล่อยให้ค่าเงินหยวนลอยตัวเสรี แต่มีการคุมเข้มเสียจนกระทั่งบิดเบี้ยวกลายเป็นอุปสรรคในยามนี้
ในช่วงหนึ่ง รัฐจีน เคยเชื่อว่า การก่อหนี้จำนวนมากโดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจที่ขาดประสิทธิภาพ จะมีทางออกโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระภาครัฐแบบที่เคยทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายมาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน และทำให้ผู้บริหารมีการเรียนรู้โดยธรรมชาติที่จะสร้างพฤติกรรมลดการก่อหนี้จากการพึ่งพาสถาบันการเงิน
ผลลัพธ์ที่ไม่คาดหมายคือ การลดภาระหนี้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เข้าตลาดหุ้น กลับกลายเป็นการย้ายภาระหนี้จากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา เมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายปัญหาก่อหนี้จากรัฐวิสาหกิจ ไปอยู่ในหนี้ครั้งใหม่ผ่านระบบซื้อขายหุ้นที่เรียกว่า มาร์จิ้นเทรดดิ้ง ของนักลงทุนรายย่อย โดยร่วมสมคบคิดกับสถาบันการเงินอย่างวาณิชธนกิจ และบริษัทหลักทรัพย์ ในการหลบเลี่ยงจากเรดาร์ของทางการได้ จนกว่าจะเกิดปัญหาในยามตลาดขาลงอย่างเช่นปัจจุบัน
ล่าสุด พบว่า มีการเคลื่อนย้ายอีกครั้งจากตลาดหุ้น ไปสู่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่เปิดใหม่ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่บางแห่ง เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ
ภูเขา 3 ลูกของจีนนี้ ค่อนข้างยากลำบาก แต่การที่ทางการจีนรับรู้ถึงปัญหา และมุ่งทำการแก้ไขก่อนจะสายเกินแก้ โดยยอมรับว่า อาจจะส่งผลเสียต่อธุรกรรมอย่างอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นผลต่อค่าเงินหยวน ผลต่อการส่งออก ผลต่อการจ้างงาน ผลต่อทุนไหลเข้าหรือออก และผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ถือเป็นการแก้ที่ตรงจุด แม้จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ในอนาคตชัดเจน
จากแนวคิดว่าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่อยากจ่ายต้นทุนแพง มาสู่การยอมรับสภาพว่า อาจจะจำเป็นต้องจ่ายต้นทุนแพง ถือเป็นจุดเด่นที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหนือกว่าผู้นำชาติอื่นๆ เพราะการกระทำดังกล่าว ทำให้เศรษฐกจิสามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าโดยไม่ต้องเชิญกับภาวะผะอืดผะอมแบบที่เคยเกิดขึ้นตลอดปีเศษที่ผ่านมา
ถ้าจีนล้างบ้านสำเร็จครั้งนี้ โอกาสที่จะผงาดไปข้างหน้า คงไม่ไกลเกินเอื้อม แต่นั่นอาจจะเป็นข่าวร้ายสำหรับชาติคู่แข่งของจีนอื่นๆในระยะยาว