บลจ.กรุงไทย ชูกองทุนตราสารหนี้ KTDFผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึง 29 เม.ย.4.71%
บลจ.กรุงไทย ชูกองทุนตราสารหนี้เด่น ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึง 29 เม.ย.4.71%
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ในปีนี้ ได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมีมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพคล่องในระบบการเงินทั่วโลกรวมถึงตลาดการเงินไทย ที่มีอยู่ในปริมาณสูง ความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ไทย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน หุ้นกู้/ตั๋วแลกเงินธนาคาร จึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ตราสารหนี้ออกใหม่ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมีน้อยกว่าความต้องการ
ทั้งนี้ บลจ.กรุงไทย คาดว่าดอกเบี้ยในประเทศจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง เศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มฟื้นตัวแต่มีความเปราะบางและความไม่แน่นอนสูง การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ต่ำกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น หรือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และในปีนี้ กองทุนตราสารหนี้ของบลจ.กรุงไทย มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น ในกลุ่มกองทุนประเภทตราสารหนี้ จากการจัดอันดับของมอร์นิ่งสตาร์
โดยผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 29 เมษายน 2559 ( YTD ) กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ พลัส( KTDF) อยู่ที่ 4.71% กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF2) อยู่ที่ 4.93% หากเทียบกับเงินฝาก1 ปี อยู่ที่ 1.37% กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ระยะ 1 ถึง3 ปี ( KTFIX-1Y3Y) ผลตอบแทนอยู่ที่ 4.08% เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 2.79 % และกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ พลัส( KTPLUS ) ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.72% เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 1.82%
สำหรับกองทุนตราสารหนี้ของบลจ.กรุงไทย มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน โดยKTPLUS เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อายุเฉลี่ยพอร์ตลงทุนไม่เกิน 1 ปี เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการบริหารสภาพคล่องและพักเงินระยะสั้นไม่เกิน 3 เดือน กองทุน KTFIX-1Y3Y มีเป้าหมายเน้นบริหารเชิงรุกและสร้างผลตอบแทนรวมระยะ 1 – 3 ปี ให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ กองทุน KTDF เน้นบริหารเชิงรุก ลงทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ มีเป้าหมายจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ และ RMF2 เน้นลงทุนเชิงรุกในตราสารหนี้ในประเทศ (Active Bond Strategy) เพื่อสร้างผลตอบแทนในรูปของการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและสร้างกระแสเงินสดแก่ผู้ถือหน่วยในระยะกลาง-ยาวอย่างสม่ำเสมอ เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการสิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษี