ความเชื่อมั่นพลวัต 2016

เมื่อวานนี้ กองทุนในประเทศทุ่มเงินหน้าตักเข้าช้อนซื้อและไล่ราคาหุ้นบลูชิพใน SET50 ในตอนท้ายตลาด ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกชนิดอ้าปากค้างสวนทางกับดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคของยุโรปที่เปิดในภายหลัง แม้ว่าจะมีแรงเทขายจากรายย่อยและต่างชาติกดดันอยู่


วิษณุ โชลิตกุล

 

เมื่อวานนี้ กองทุนในประเทศทุ่มเงินหน้าตักเข้าช้อนซื้อและไล่ราคาหุ้นบลูชิพใน SET50 ในตอนท้ายตลาด ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกชนิดอ้าปากค้างสวนทางกับดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคของยุโรปที่เปิดในภายหลัง แม้ว่าจะมีแรงเทขายจากรายย่อยและต่างชาติกดดันอยู่

คำถามก็คือ แรงซื้อของกองทุนในประเทศนี้ จะมากน้อยและต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ที่จะสร้างโมเมนตัมขาขึ้นต่อไปให้ทะลุทะลวงแนวต้านเหนือ 1,400 จุดขึ้นไปได้แข็งแกร่งและยั่งยืน

หากวิเคราะห์อย่างผิวเผิน แสดงว่ากองทุนในประเทศมีความมั่นใจอนาคตของตลาดหุ้นไทยอย่างมาก นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่า การแถลงข่าววานนี้ของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ใน 3 เดือนหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.86 อยู่ที่ 102.74 เทียบกับเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 96.14 ซึ่งยังทรงตัว และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน โดยปัจจัยหนุนคือมาตรการและนโยบายภาครัฐช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่น แต่นักลงทุนยังคงมีความกังวลเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น จนกระทบต่อภาคเกษตร และส่งออก แต่ยังมีภาคการท่องเที่ยว และเม็ดเงินไหลเข้าเพื่อลงทุนเพิ่ม จึงช่วยความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ดี โดยที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 111.11 ตามด้วยกลุ่มนักลงทุนรายย่อยอยู่ที่ 109.19 และกลุ่มสถาบันอยู่ที่ระดับ 100

ในขณะที่นักวิเคราะห์อีกกล่มหนึ่งกลับมองว่าผลประกอบการที่ดีเกินคาดของกลุ่มปตท. ที่เมื่อบ่ายวานนี้เป็นหุ้นกลุ่มชี้นำตลาดชัดเจนจากแรงซื้อที่โถมเข้าไปในหุ้นทั้งกลุ่มหลายรายการที่ล้วนมีขนาดใหญ่ทั้งสิ้น หลังจากผลประกอบการของ ปตท.และบริษัทย่อย ไตรมาสแรกออกมามีตัวเลขกำไรสุทธิ 2.37 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.23 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.26 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 7.89 บาท

หากมองในมุมลึก ตัวเลขของกองทุนที่สุทธิติดลบในตลาด (จนถึงปิดตลาดวานนี้ มีตัวเลขสะสมตลอดปีนี้ติดลบ 579 ล้านบาท) น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญในการซื้อหุ้นแรงเมื่อบ่ายวานนี้มากกว่าเรื่องอื่นใด เนื่องจากเรายังได้เห็นการขายต่อเนื่องสุทธิของต่างชาติเป็นวันที่ 5 แล้ว และค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อไปอีก แม้ว่าอาจจะมีใครบางคนประเมินว่าต่างชาติมีอิทธิพลไม่มากเท่าเดิมในตลาดปีนี้อีกเหมือนในอดีตก็ตาม

ความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่เปรียบได้กับกระแสลมที่หาความแน่นอนของความแรงและทิศทางไม่ได้ ตราบใดที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังไม่เต็มที่และต่อเนื่อง โอกาสของขาขึ้นตลาดหรือภาวะกระทิงก็คงยากจะเกิดขึ้นได้ยั่งยืนยาวนาน  แล้วกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนนั้น ก็เป็นนามธรรมมากพอสมควร เพราะถูกแรงกดดันทั้งจากความต้องการแสวงหาโอกาสและการหลบหนีจากความเสี่ยงทั้งหลายในปัจจุบันและอนาคต

ดังที่ทราบกันดีว่า ผลประกอบการของหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยยามนี้ สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังสุ่มเสี่ยงอย่างมาก และยังมีการคาดเดาล่วงหน้าว่าไตรมาสต่อๆ ไปของปีนี้จะยังคงย่ำแย่ต่อไปอีก (โดยที่ยังไม่นับการลุ้นผลทบทวนของดัชนี MSCI ในเดือนนี้ว่า จะมีการลดหรือ/เพิ่มน้ำหนักหุ้นตัวไหนอย่างไร ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักค่อนข้างน่าห่วง)

ในขณะที่น.ส.วัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก็ยังออกมาระบุที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นว่า แม้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังฟื้นตัวได้ แต่ยังอ่อนแอ และรัฐบาลจะต้องระวังปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง เพราะจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวหายไป จะมีผลกระทบต่อจีดีพีแน่นอน โดยประเมินว่าปีนี้จีดีพีไทยจะอยู่ที่ 2.7-3.0% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพของประเทศที่เคยเติบโตปีละกว่า 4.5% มาโดยตลอด และอันดับความน่าเชื่อถือของไทยคงจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปอีก 1-2 ปี เพราะไม่มีปัจจัยเกื้อหนุนให้ปรับเพิ่มขึ้นได้

ปัจจัยสำคัญสร้างความเชื่อมั่นที่ปฏิเสธไม่ได้ในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยให้เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องคือ นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในปัจจุบัน ถือว่ายังมีประเด็นเปราะบางสูงมาก

ตัวอย่างมากมายของการละเมิดสิทธิของพลเมืองโดยกองทัพและรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถึงขั้นมีการนำไปเปิดเวทีซักถามเพื่อถกเถียงในสหประชาชาติในสัปดาห์นี้ ได้มีส่วนบั่นทอนความเชื่อมั่นของการไหลเข้าของทุนเก็งกำไรต่างชาติค่อนข้างมากทีเดียว แม้ว่าผู้นำรัฐบาลไทยจะไม่ยอมรับอย่างเปิดเผยก็ตามที แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มันดำรงอยู่จริงและสัมผัสได้   

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ยอมรับว่า ที่มองว่า จากทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่  ทำให้โอกาสที่เม็ดเงินลงทุนกำลังจะกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยด้วย อาจจะไหลเข้ามาได้ก็แค่ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งต้องรอความชัดเจนของเศรษฐกิจไทยว่าจะฟื้นตัวเมื่อไร ซึ่งคาดว่าจะเร็วที่สุดก็อีกนาน 4-5 เดือนข้างหน้า

ความเชื่อมั่นต่ออนาคต จึงเป็นปริศนาคำถามใหญ่ว่า นอกเหนือจากการเข้าซื้อแรงของกองทุนในประเทศท้ายตลาดวานนี้ เกิดความเชื่อมั่นในอนาคตของตลาดจริงหรือ หรือว่าเพียงแต่การทำกำไรระยะสั้นในจังหวะที่สัญญาณทางเทคนิคบอกว่าเข้าเขตขายมากเกินไปตามธรรมดา ซึ่งอาจจะเป็นได้แค่ปรากฏการณ์ชั่วคราวที่เรียกว่า “แมงตายเด้ง” หรือ  dead-cat bounce เท่านั้น

นักวิเคราะห์สำนักใหญ่ของโลกยามนี้เชื่อว่า โอกาสของขาลงตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้าเป็นไปได้สูง เพราะการซึมยาวของเศรษฐกิจโดยรวม แม้กระทั่งในสหรัฐ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงต่ำ เศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ปรับเข้าสู่ดุลยภาพดีพอ และปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่ยังล้นท่วมตลาด เป็นแรงกดดันที่ไม่อาจวางใจได้เลย

คำชี้ชวนของบรรดานักวิเคราะห์ที่พากันบอกว่า ราคาหุ้นต่ำสำคัญบางรายการมากเกินขนาดไปแล้ว ไม่ได้มีความหมายมากเพียงพอที่จะทำให้ความมั่นใจกลับคืนมาอย่างทั่วถึงในวงกว้าง ซึ่งหมายความถึงการสูญเสียโอกาสในการซื้อที่สำคัญ เพราะคนเกรงว่า “จุดซื้อที่ว่าต่ำแล้ว อาจจะยังมีต่ำกว่าข้างหน้า”

ความเชื่อมั่นที่ปราศจากคำถามและข้อสงสัย (แม้ว่านั่นอาจจะเป็นความสุ่มเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง) จะกลับมาได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือ พื้นฐานเศรษฐกิจที่มีทิศทางชัดเจนว่า จะสามารถสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวได้โดยมีปัญหาข้างเคียงต่ำ  และทำให้ผู้เล่นคนสำคัญในตลาดเก็งกำไร สามารถมองเห็น “ส่วนต่างของความปลอดภัย” หรือ margin of safety ได้กระจ่างยิ่งขึ้น

หากความเชื่อมั่นสามารถฟื้นให้กลับมาเกิดขึ้นจริงจัง แนวต้านของดัชนีตลาดทีไหนๆ ก็รั้งไม่อยู่ แต่หากไม่เกิดขึ้นหรือเป็นตรงกันข้าม การพูดถึงแนวรับ อาจจะง่ายกว่าพูดถึงแนวต้านหลายเท่า          

Back to top button