พาราสาวะถี อรชุน

คุ้นๆ กันไหมกับประโยคของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ที่พูดไว้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา “วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญแก้อะไรไม่ได้แล้ว คงต้องเดินหน้ากันต่อไป เพื่อทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามันบกพร่องอะไรวันข้างหน้าก็คงไปแก้ไขกันเอง” พูดง่ายและเอาแต่ได้เหมือนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่บอกว่ารับๆ ไปก่อนแล้วค่อยแก้เพราะทำง่ายนิดเดียว


คุ้นๆ กันไหมกับประโยคของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ที่พูดไว้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา “วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญแก้อะไรไม่ได้แล้ว คงต้องเดินหน้ากันต่อไป เพื่อทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามันบกพร่องอะไรวันข้างหน้าก็คงไปแก้ไขกันเอง” พูดง่ายและเอาแต่ได้เหมือนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่บอกว่ารับๆ ไปก่อนแล้วค่อยแก้เพราะทำง่ายนิดเดียว

บทพิสูจน์ของวาทกรรมลวงโลกดังกล่าวมีให้เห็นกันแล้ว จากการที่รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญหน้าแหลมฟันดำได้อย่างสะดวกโยธินเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งส.ส. โดยหวังว่าพรรคพวกตัวเองจะได้เปรียบจากการเลือกตั้ง เป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่พอยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแก้เพื่อให้มีส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กลับถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดกฎหมาย เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยไปเสียฉิบ

นี่คือความจริงอันเจ็บปวด ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันเป็นนิสัยของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการรัฐประหารมาหรืออย่างไร ถึงได้พูดไปในทำนองเดียวกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คำพูดของมีชัยล่าสุด เป็นภาพสะท้อนถึงความกังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านการทำประชามติหรือเปล่า จึงต้องใช้ไม้ตายสุดท้ายเพื่อเรียกคะแนนสงสาร

ทั้งๆ ที่ความจริงอย่างที่รู้กัน บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้กระบวนการแก้ไขเป็นไปด้วยความยากลำบาก แล้วยังมีหน้ามาบอกว่าค่อยไปแก้ไขกันเอง มันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกได้ว่า คนเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกรู้สาในสิ่งที่ตัวเองทำไปว่าดีหรือร้ายอย่างไร มิหนำซ้ำ ยังไม่วายโยนภาระปัญหาทั้งหมดให้เป็นของคนที่ตัวเองเกลียดชังไปเสียฉิบ

ด้วยเหตุนี้กระมังจึงมีการค่อนขอดว่า บรรดาคนดีทั้งหลายแหล่นั้นจึงมีพฤติกรรมแบบพูดขาวแต่ทำให้เป็นดำ พูดแบบพระแต่ปฏิบัติเยี่ยงโจรหรืออีกนัยหนึ่งคือพวกมือถือสากปากถือศีล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคงเป็นประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เวทีทบทวนรายการสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของยูเอ็นหรือคณะทำงานยูพีอาร์ ซึ่งบรรดาสมาชิก 102 ประเทศแสดงความเป็นห่วงและกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

โดย ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรมที่นำคณะไปชี้แจงต่อคณะทำงานยูพีอาร์ ที่แถลงข่าวทันทีหลังจากเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ยอมรับว่า สิ่งที่นานาประเทศเป็นกังวลต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยได้แก่ การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ

นอกจากนี้ปลัดยุติธรรมยังเตรียมที่จะเสนอครม.ออกกฎหมายป้องกันการบังคับบุคคลสูญหายและการซ้อมทรมานด้วย แน่นอนว่า แอ็คชั่นที่เกิดขึ้นทันทีพร้อมกับยอมรับสภาพของข้อกังวลที่ได้รับเสียงสะท้อนมา เป็นภาพอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า สิ่งที่บรรดาโฆษกทั้งรัฐบาลและคสช.ปฏิเสธนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องตรงข้ามกับคำพูดที่แถลงมาทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เคยมีเหตุการณ์ตบหน้ากระบอกเสียงของฝ่ายรัฐมาแล้ว โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่ง สตัฟฟาน แฮร์สเติร์ม ทูตสวีเดนประจำประเทศไทยเข้าพบ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังจากการหารือ โฆษกกระทรวงกลาโหมของไทยอ้างว่า ทูตสวีเดนกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและมิตรประเทศของไทย มีความเข้าใจดีต่อสถานการณ์ของประเทศไทย

นอกจากนั้น ยังเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหา วางรากฐานของประเทศในปัจจุบัน และอ้างด้วยว่าทูตสวีเดนกล่าวกับพลเอกประวิตรว่า สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด อันจะนำมาซึ่งสังคมที่ปรองดองและความมั่นคงของประเทศต่อไป แต่ปรากฏว่าในเฟซบุ๊คของสถานทูตสวีเดน ได้เผยแพร่คำแถลงที่ผิดไปจากที่โฆษกกระทรวงกลาโหมของไทยกล่าวอ้างโดยสิ้นเชิง

โดนทูตสวีเดนได้แถลงย้ำเตือนถึงข้อกังวลที่คณะทูตานุทูตของสหภาพยุโรปได้เคยระบุไว้เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมาอันเป็นข้อกังวลต่อประเทศไทย โดยเฉพาะความสำคัญของเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้เพื่อให้สังคมได้รับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งสำคัญไม่เฉพาะกับบริบทการลงประชามติที่กำลังจะมีขึ้น หากยังรวมถึงการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยด้วย

ขณะเดียวกันทูตสวีเดน ยังเน้นถึงความกังวลเกี่ยวกับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของทหารในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 และยังเน้นถึงความสำคัญของหลักนิติธรรม แน่นอนว่า ท่าทีดังกล่าวตอกย้ำอีกครั้งในการที่ทูตสวีเดนเข้าพบ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกฯพร้อมแสดงความไม่เข้าใจต่อการทำงานของรัฐบาลไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน

และอีกหนในการเข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทูตสวีเดนได้เน้นย้ำเป็นพิเศษถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม ซึ่งจะทำให้เสียงของคำวิพากษ์วิจารณ์ถูกรับรู้ ซึ่งไม่เพียงสำคัญเฉพาะกับการลงประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เป็นไปเพื่อการฟื้นคืนกลับสู่ประชาธิปไตย รวมถึงการเลือกตั้งที่เสรีและมีความยุติธรรม

แต่ดูท่าว่าผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่น่าจะอินังขังขอบต่อท่าทีเหล่านั้น เหมือนอย่างที่ พวงทอง ภวัครพันธุ์ เขียนไว้ในบทความเมื่อสัปดาห์ก่อน อำนาจรัฐต้องถูกตรวจสอบและทัดทานด้วยหลักสิทธิมนุษยชนของประชาชน การใช้อำนาจรัฐแบบตามอำเภอใจเป็นผลร้ายต่อทั้งสังคมโดยตรง และนี่คือหลักการและคุณค่าอันสำคัญของโลกยุคใหม่ ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประเทศไทยที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้

Back to top button