พฤษภายอกอกทายท้าวิชามาร
วันครบรอบ “พฤษภาทมิฬ” เวียนมาทีไร ต้องมีคนไม่น้อยอิหลักอิเหลื่อ ไม่รู้จะตอบคำถามลูกหลานอย่างไร อ้าว ไหนว่าพ่อแม่ปิ๊งกันใน “ม็อบมือถือ” สมัยไล่สุจินดา เรียกร้องนายกฯ มาจากเลือกตั้ง เล่าวีรกรรมให้ฟังตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ไหงวันนี้เป่านกหวีดปี๊ดๆ ชูนายกฯ ลุงตู่เป็นขวัญใจ แล้วยังจะเชียร์ให้รัฐธรรมนูญมีนายกฯ คนนอก
ใบตองแห้ง
วันครบรอบ “พฤษภาทมิฬ” เวียนมาทีไร ต้องมีคนไม่น้อยอิหลักอิเหลื่อ ไม่รู้จะตอบคำถามลูกหลานอย่างไร อ้าว ไหนว่าพ่อแม่ปิ๊งกันใน “ม็อบมือถือ” สมัยไล่สุจินดา เรียกร้องนายกฯ มาจากเลือกตั้ง เล่าวีรกรรมให้ฟังตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ไหงวันนี้เป่านกหวีดปี๊ดๆ ชูนายกฯ ลุงตู่เป็นขวัญใจ แล้วยังจะเชียร์ให้รัฐธรรมนูญมีนายกฯ คนนอก
แน่ละ คนเหล่านี้สามารถอธิบายได้ร้อยแปดพันเก้า ลุงตู่เป็นคนดียังไง ทักษิณชั่วเพียงไร ฯลฯ แต่สิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้คือเหตุผลและหลักการ
ประชาธิปไตยไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก เราเกิด 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 แล้วยังมีพฤษภา 53 มีรัฐประหารอีก 2 ครั้ง ทั้งที่เกาหลีใต้เกิดเหตุการณ์กวางจูภายหลัง แม้พ่ายแพ้ถูกปราบปราม ก็ย้อนมาเอาผิดผู้นำเผด็จการ หลังจากนั้นก็เดินหน้าสร้าง Korean Wave ให้คนไทยคลั่งไคล้ ฟิลิปปินส์ อินโด หลังโค่นมาร์กอส ซูฮาร์โต ก็ไม่เคยย้อนกลับไป แม้ฟิลิปปินส์ได้ประธานาธิบดีที่มีฉายา “ทรัมพ์แห่งเอเชีย” แต่ก็มาจากการเลือกตั้ง
หรือเพราะประเทศไทยมีวัฒนธรรมอันดีงามเก่าแก่ยิ่งกว่าอเมริกา จึงไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตย
พฤษภา 35 มีความหมายให้น้อมรำลึกถึงวีรชน ในเจตนารมณ์ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” หลังจากเรามีประชาธิปไตยช่วงสั้นๆ 2516-2519 แล้วเกิดการเข่นฆ่า รัฐประหารก่อตั้งรัฐบาลหอย ขวาจัดสุดโต่งคิดปิดกั้นเสรีภาพ 12 ปี แต่อยู่ได้ปีเดียวก็ถูกโค่นล้ม
ประเทศไทยเข้าสู่ยุคครึ่งใบ เปิดพื้นที่ให้กลุ่มธุรกิจ คนชั้นกลาง แสดงบทบาทผ่านสถาบันสื่อ สถาบันวิชาการ ภาคประชาสังคม กระทั่งคนชั้นกลางเติบใหญ่ เบื่อหน่ายป๋าเปรม 8 ปี เข้าชื่อกันไล่ จนได้รัฐบาลน้าชาติ ที่ด้านหนึ่งก็มีที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกเสนอไอเดียใหม่ๆ เหนือรัฐราชการ แต่อีกด้านก็ล้นด้วยนักการเมืองระบบอุปถัมภ์ จนได้ฉายา Buffet Cabinet จึงถูกรัฐประหารตามสูตร “โกง” และบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบัน
ตอนแรกก็ไม่มีใครต้านหรอก มีแต่เสียงเชียร์ ยิ่งตั้งนายกฯ อานันท์ ตั้ง คตส.มา “ปราบโกง” ยิ่งแซ่ซ้องสรรเสริญ แต่พอกวาดต้อนนักการเมืองที่โดนตรวจสอบทรัพย์สินไปตั้งพรรคสามัคคีธรรม นี่สิ ชาวบ้านเอะใจ พอณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายกฯ ไม่ได้ “สุไม่เอาให้เต้” “เสียสัตย์เพื่อชาติ” คนก็ลุกฮือก่อม็อบมือถือ ที่สมัยนี้คงเรียกว่าคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี
เพียงแต่ครั้งกระนั้น จุดยืนของคนชั้นกลางในเมืองยังสอดคล้องกับ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” มุ่งหวังว่าประชาธิปไตยเลือกตั้งจะทำให้ตนเองมีพลังมีปากเสียงกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบหรือระบอบทหาร คนชั้นกลางยังผลักดันจนเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ช่วงระหว่าง 2535-2544 จึงอยู่ในทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยคือคนชนบทเลือกรัฐบาล แต่คนกรุง (สื่อ นักวิชาการ ประชาสังคมต่างๆ) ล้มรัฐบาล
หลังจากนั้นอธิบายได้ไม่ยาก คนชั้นกลางกลับพบว่าประชาธิปไตยเต็มใบทำให้ตนเองสูญเสียอำนาจ จึงต้องขัดขวางเลือกตั้ง
ความขัดแย้งในสังคมไทยจะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกนาน ยังมองไม่เห็นทางจบง่าย ท่ามกลางความสูญเสียทุกอย่าง ตั้งแต่โอกาสทางเศรษฐกิจ ไปถึงชีวิตคน อิสรภาพ ไม่นับเสียเพื่อนเสียคนรู้จัก
แต่หนักที่สุดคือ “เสียหลัก” ที่ไม่สามารถอธิบายลูกหลานได้ ที่ต้องตะแบงกันไป สิทธิมนุษยชนคืออะไร กฎหมายคืออะไร ฯลฯ พูดให้ผิดเพี้ยนหมด ยังช่วยกันเอาเกียรติประวัติศักดิ์ศรีมาการันตี
ประเทศที่ไม่มีหลัก ไม่เอาระบบ เอาตามกระแส เอาตามอำเภอใจ เดินไปข้างหน้าไม่ได้หรอก