พาราสาวะถี อรชุน

คำพูดที่ว่า “ประชาชนสามารถตัดสินใจได้โดยไม่ต้องถูกชี้นำ” ที่พ่นออกมาจากปากของบรรดาผู้มีอำนาจต่อการตัดสินใจของประชาชนในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และล่าสุดเป็น มีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเหมือนการตอกย้ำว่าประชาชนคนไทยนั้นโง่ คิดเองไม่ได้ ต้องปล่อยให้มีใครมาคอยจูงจมูก ทั้งๆ ที่จนถึงขณะนี้ถามว่ามีใครสามารถชักจูงหรือพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ในแง่ไม่ดีได้หรือไม่


คำพูดที่ว่า “ประชาชนสามารถตัดสินใจได้โดยไม่ต้องถูกชี้นำ” ที่พ่นออกมาจากปากของบรรดาผู้มีอำนาจต่อการตัดสินใจของประชาชนในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และล่าสุดเป็น มีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเหมือนการตอกย้ำว่าประชาชนคนไทยนั้นโง่ คิดเองไม่ได้ ต้องปล่อยให้มีใครมาคอยจูงจมูก ทั้งๆ ที่จนถึงขณะนี้ถามว่ามีใครสามารถชักจูงหรือพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ในแง่ไม่ดีได้หรือไม่

มีเพียงก็แต่ กรธ.ที่อ้างกฎหมายเดินสายชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพกเอา สนช. และ สปท. ไปร่วมชี้แจงคำถามพ่วงประชามติด้วย สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นได้ฟัง อลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.บอกว่าจำเป็นที่จะต้องชี้แจงถึงเรื่องการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติให้ประชาชนเข้าใจด้วย หมายความว่าอย่างไร ไม่ได้มีการไปบอกกล่าวประชาชนแค่เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเท่านั้นหรอกหรือ

เหล่านี้คือการใช้วิธีการศรีธนญชัย และไม่ใช่การลักไก่อย่างแน่นอนแต่เป็นการจงใจ โดยไม่สนใจว่าจะมีเสียงวิจารณ์อย่างไร เพราะท้ายที่สุด หากมีคนร้องเรียนหรือตั้งป้อมเล่นงาน ก็จะออกลูกที่หันไปใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาคุ้มกะลาหัว ด้วยเหตุผล การชี้แจงเรื่องการปฏิรูปและยุทธศาสตร์นั้น เป็นนโยบายสำคัญของ คสช. ก่อนที่จะแถต่อไปแบบข้างๆ คูๆ ว่า เนื้อหาทั้งสองเรื่องมีบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ดังนั้นการที่พล่ามบอกกันว่าประชาชนสามารถตัดสินใจเองได้โดยไม่ต้องถูกชี้นำ ต้องถามกลับไปว่าใครและพวกไหนที่เป็นฝ่ายชี้นำกันแน่ เพราะมาจนถึงบัดนี้ฝ่ายที่เห็นต่างขยับตัวอะไรไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก“กฎหมายปิดปาก” หรือ พระราชบัญญัติการออกเสียงประชามตินั่นเอง เพราะแม้แต่ กกต.ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายยังใช้ลีลาบอกว่าประชาชนสามารถแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่อย่าทำผิดกฎหมายประชามติ

เหล่านี้ คือ กลเกมที่ผู้มีอำนาจและมือกฎหมายในนามเนติบริกรได้วางกับดักเอาไว้ ภาพที่จะเห็นได้เด่นชัดถึงการ “ชี้นำ” นั้นจะเกิดขึ้นหลังจาก กรธ.ทั้ง 21 ชีวิตนำขบวนสมาชิกสภาลากตั้งทั้ง สนช. และ สปท. พร้อมด้วยอาสาสมัครในนามครู ก. ครู ข. และครู ค. ลุยชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ที่แน่นอนว่าจะมีแต่ภาพสวยงามไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องโหดร้าย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนแม้แต่น้อย

เราจะเห็นภาพการกรอกหูประชาชนถึงข้อดีและข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ใครกล้าไปแสดงความเห็นต่างหรือสร้างความปั่นป่วนต่อเวทีชี้แจงดังกล่าวจะถูกเล่นงานด้วยกฎหมายประชามติที่มีโทษรุนแรงจำคุกถึง 10 ปีหรืออาจจะเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายความมั่นคง หรืออาจจะโดนเล่นงานทั้งสองประการ อยู่ที่ว่าคนๆ นั้นหรือกลุ่มๆ นั้นเป็นใคร พวกไหน

มาตรการที่จะนำมาใช้นั้นเป็นไปตามคำพูดของ วิษณุ เครืองาม ที่ย้ำว่าสถานการณ์พิเศษย่อมไม่สามารถเอาเกณฑ์ของประชาธิปไตยมาวัดได้ จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ในห้วงเวลาของการทำประชามติที่เหมือนการฟังความข้างเดียวนั้น หากใครกล้าสะเออะมาแสดงความเห็นหรือแสดงออกอย่างหนึ่งอย่างใด จะตกเป็นผู้ต้องหาเสมือนคดีร้ายแรงเยี่ยงฆ่าคนตายทันที

ท่าทีในลักษณะเช่นนี้ มีสัญญาณเตือนมาชัดแล้วจากกรณีที่ท่านผู้นำด่ากราดย้อนกลับไปยังทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในทำนองวิจารณ์และห่วงใยเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนจากข้อมูลตัดแปะจากสื่อในไทย ทั้งที่ความจริงแล้วมหาอำนาจอย่างสหรัฐหรือประเทศอื่นๆ คงไม่มีใครจะใช้ข้อมูลที่ตื้นเขินไปแสดงความห่วงใยต่อประเทศที่ได้ชื่อว่ามีสัมพันธภาพกันมาอย่างยาวนาน

ท่วงทำนองเช่นนี้ เลยทำให้นึกย้อนกลับไปถึงคำพูดของท่านผู้นำต่อการที่จะก้าวลงจากหลังเสือว่าจะต้องฆ่าเสือเสียก่อน ถ้าเช่นนั้นหมายความว่าจะต้องมีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จัดการกลุ่มเห็นต่างให้สงบราบคาบ แล้วต้องผลักดันให้คนในคาถาอยู่ต่อเพื่อการปฏิรูปและเดินหน้ายุทธศาสตร์อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี ใช่หรือไม่

พิจารณาจากปัจจัยในปัจจุบันพบว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อลงหลังเสือแบบสง่างามนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะบริหารจัดการสยบความเคลื่อนไหวภายในได้ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี แต่ก็จะพบว่ายังมีแรงกระเพื่อม และนับวันดูเหมือนว่าจะมีแนวร่วมของกลุ่มเห็นต่างมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะแสดงตัวกันเท่านั้น อันเป็นผลมาจากการบริหารงานภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หาได้เป็นไปตามที่คนจำนวนไม่น้อยคาดหวังไม่

ต้องไม่ลืมว่าเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนจะได้ยินได้ฟังวลีเด็ดคืนความสุขอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงเราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน เมื่อมองย้อนกลับไปโดยดูจากโลกแห่งความเป็นจริง หากไม่ใช่พวกสลิ่มหรือกองเชียร์ คสช. คงตอบตัวเองได้ว่าได้รับความสุขอย่างที่ว่าและหวังกันหรือเปล่า มิหนำซ้ำที่บอกขอเวลาอีกไม่นาน ทำท่าจะอยู่ยาวแบบเนียนๆ อีกต่างหาก

นั่นเป็นเรื่องภายในซึ่งด้วยกฎหมายวิเศษที่อยู่ในมือ ผู้มีอำนาจเชื่อว่าจะสามารถเอาอยู่ แต่กระแสกดดันจากภายนอกในสถานการณ์ที่เราอยู่ในช่วงของการทำประชามติเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง นอกจากทูตสหรัฐฯ ที่แสดงท่าทีเป็นห่วงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ล่าสุด คณะผู้แทนรัฐสภายุโรปที่ได้เดินสายพบคณะบุคคลต่างๆ ในประเทศไทยก็ได้แสดงท่าทีในลักษณะเดียวกัน

นั่นหมายความว่าการที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย ไม่แยแสต่อการแสดงออกของทูตสหรัฐฯ แต่กลับเรียกร้องให้พิจารณาเลื่อนอันดับการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของไทยให้ดีขึ้น ซึ่งมันย้อนแย้งสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เขาเป็นห่วงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทางการไทยยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าได้ปลดล็อกเรื่องนี้แล้วอย่างไรยังมีหน้าไปเรียกร้องเช่นนี้อีก ไม่รู้ว่านานาประเทศจะเห็นเป็นเรื่องตลกหรือเปล่า

ขณะเดียวกัน ท่าทีของคณะผู้แทนรัฐสภายุโรปย่อมเชื่อมโยงกับการพิจารณาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทยไปโดยปริยาย สรุปง่ายๆ ว่า แม้ในระดับทางการทูตจะดูเหมือนให้เกียรติแต่ในทางปฏิบัติกลุ่มประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ย่อมมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกถึงการกดดันอย่างหนึ่งอย่างใดได้อย่างเต็มที่

ด้วยเหตุนี้ถึงจะพยายามอธิบายให้เหตุผลสารพัดต่อความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา แต่โดยภาพรวมเมื่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศยังไม่เป็นที่ยอมรับ ประกอบกับทิศทางการคืนประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยเล่ห์กล คงไม่มีใครหน้าไหนกล้ายืนยันได้อย่างหนักแน่นว่า ไทยเราจะยืนอย่างโดดเด่นเป็นสง่าในเวทีนานาชาติได้ แม้แต่พวกสอพลอหรือสลิ่มที่ชูหน้าสลอนในระยะนี้ก็คงจะรู้ดีต่อแรงกดดันดังว่า หรือหากคิดว่าหันไปคบจีนและผูกมิตรกับรัสเซียไว้แล้วเราไม่ต้องแยแสใคร ถ้าอย่างนั้นก็เอาที่สบายใจก็แล้วกัน

Back to top button