มุมใหม่ วอร์เรน บัฟเฟตต์พลวัต 2016

มหาเศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งของยุคในโลกยามนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สร้างความประหลาดใจอีกครั้งหนึ่ง ว่า เขากำลังคิดอะไร ถึงถ่มน้ำลายรดฟ้าแบบเดียวกับจิวยี่ ขุนพลแห่งยุคสามก๊กในอดีต


วิษณุ โชลิตกุล

 

มหาเศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งของยุคในโลกยามนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สร้างความประหลาดใจอีกครั้งหนึ่ง ว่า เขากำลังคิดอะไร ถึงถ่มน้ำลายรดฟ้าแบบเดียวกับจิวยี่ ขุนพลแห่งยุคสามก๊กในอดีต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทเบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ของมหาเศรษฐีนักลงทุน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ของสหรัฐฯว่า บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทแอปเปิ้ล อิงค์ จำนวน 9.81 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นลำดับที่ 56 ของแอปเปิ้ล

I ราคาหุ้นของแอปเปิ้ล อิงค์ ร่วงลงมาจากระดับ 130 ดอลลาร์ต่อหุ้น มาอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อหุ้น โดยมีค่าพี/อีอยู่ที่ระดับ 10 เท่า การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการซื้อที่ราคาถูกอย่างมาก แต่คำถามก็ตามมานอกเหนือจากคำคุ้นๆ หูว่า “ซื้อต่ำแล้ว ยังมีต่ำกว่า” หรือไม่ อยู่ที่ว่า บัปเฟตต์กำลังกลืนน้ำลายที่เขาเคยป่าวประกาศออกไป

เป็นที่ทราบกันดีว่า บัฟเฟตต์ซึ่งเป็นนักลงทุนที่ละเอียดรอบคอบแบบพวกวีไอ (นักลงทุนเน้นคุณค่า) แต่ก็มีนิสัยอนุรักษนิยมอย่างมาก ไม่เคยใส่ใจกับหุ้นเทคโนโลยีแห่งใดมาก่อน แม้กระทั่งหุ้นของไมโครซอฟท์ ในยุครุ่งเรืองสุดขีด แม้ว่าเขาจะเป็นเพื่อนสนิทของบิลล์ เกตส์อยู่ยาวนานก็ตาม และบิลล์ เกตส์ เองยังซื้อหุ้นลงทุนในเบิร์กไชร์ฯเกือบ 10% เลยทีเดียว

การตัดสินใจของบัฟเฟตต์ จึงไม่ใช่แค่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด แต่ยังส่งผลให้หุ้นของแอปเปิ้ลที่ราคาตกลงไปถึง 15 เปอร์เซ็นต์เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนเข้าสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หลังจากที่เกิดแรงเทขายจากการที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับยอดขายไอโฟนที่ลดลงเป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ผ่านมา สามารถดีดตัวปรับขึ้น 3.7 เปอร์เซ็นต์ในวันเดียว

บัฟเฟตต์ประกาศว่า เหตุที่เขาไม่ลงทุนหุ้นที่ไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และมีความเสี่ยงสูงเกินไป เพราะมี “คูกำแพงรอบเมือง” ที่ขัดขวางการขยายตัวของธุรกิจในระยะยาว เพราะสำหรับบัฟเฟตต์แล้ว ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ จะต้องมาจากความสามารถในการแหวกอุปสรรคของคู่แข่งขันรอบด้านเพื่อสร้างขีดความสามารถในการเติบโตและทำกำไรในระยะยาว ไม่ใช่ในระยะสั้นแบบเดียวกับที่หุ้นเทคโนโลยีดำเนินการอยู่อย่างหวือหวา ดังที่เคยเกิดในยุคของฟองสบู่ดอทคอมเมื่อ 16 ปีก่อน

เหตุผลรองลงไปคือ เป็นเรื่องยุ่งยากมากในการประเมินค่าความสำเร็จในปัจจุบันว่าจะการันตีความสำเร็จในอนาคตได้ เพราะไม่สามารถที่จะถือครองความสามารถในการแข่งขันเหนือตลาดได้ยั่งยืน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาดอย่างมาก

ความสนใจของบัฟเฟตต์เพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงมานับแต่หลังวิกฤติซับไพรม์เมื่อบัฟเฟตต์เข้าซื้อหุ้นในบริษัทอดีตที่ยิ่งใหญ่อย่าง ไอบีเอ็ม ที่ผ่านยุคทองและฟุบมาแล้วกลับสู่ความมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนด้วยโมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

สื่อในสหรัฐฯระบุว่า ความสนใจของบัฟเฟตต์ในการลงทุนหุ้นเทคโนโลยี อาจจะไม่ได้เกิดจากการริเริ่มของตัวเขาเองโดยตรง แต่มาจากผู้บริหารของบริษัทในกลุ่มที่ถือว่าเป็นทายาทมืออาชีพอย่าง ท็อดด์ โคมส์ และเท็ด เวสเลอร์ มือขวาที่สนใจกับการลงทุนในเวทีซึ่งบัฟเฟตต์ไม่เคยก้าวเข้ามาก่อน เริ่มตั้งแต่การเข้าลงทุนใน ไอบีเอ็ม

การเข้าลงทุนในแอปเปิ้ล อิงค์ แม้จะเป็นเวทีใหม่ แต่หลักการลงทุนยังคงเน้นความสำเร็จเดิมของการเข้าลงทุนที่บัฟเฟตต์ถนัด นั่นคือ แรกสุด จะต้องเป็นบริษัทที่มีกำไรจากการดำเนินงานที่คาดเดาล่วงหน้าได้ง่ายและชัดเจน ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีทั่วไปไม่สามารถให้ได้ เพราะว่ากันไปแล้วแอปเปิ้ล อิงค์ คือบริษัทที่ใช้แนวทางการตลาดนำหน้าโดยมีแรงสนับสนุนจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการตลาดเสริมอยู่ข้างหลัง กลายเป็นเครื่องมือผลิตสินค้าและบริการหลากหลายที่ทำเงินต่อเนื่อง (แม้จะไม่ประสบความสำเร็จทุกอย่างเสมอไป) ไม่ใช่บริษัทที่มีผลิตภัณฑ์แบบลองผิดลองถูกตลอดเวลาอย่างหุ้นเทคโนโลยีทั่วไปที่มีความหลากหลายของสินค้าต่ำ

แอปเปิ้ลเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นทางการทำกำไร เพราะในหลายปีมานี้ สามารถที่จะเพิ่มกำไรต่อหุ้นทุกปีได้อย่างยั่งยืนมาตลอด เพิ่งจะเริ่มมาเสียศูนย์ตอนไตรมาสแรกของปีนี้ และอาจจะส่งผลถึงตลอดทั้งปีด้วย ที่สำคัญมีสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ดี/อี) ต่ำอยู่ที่แค่ 1.3 เท่า ต่ำกว่าระดับมาตรฐานสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของบัฟเฟตต์

ยิ่งกว่านั้น แอปเปิ้ลยังมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ยังสร้างนวัตกรรมในฐานะผู้นำในแบรนด์สินค้าที่ยังอยู่ในท่อการผลิตต่อเนื่องในอนาคตอีกมาก ซึ่งสร้างความมั่นใจได้ว่า ยังสามารถที่จะเติบโตในการทำกำไรต่อไปได้อีกนานหลายปี เพราะฐานลูกค้าที่ยังภักดีต่อแบรนด์ของแอปเปิ้ลเหนียวแน่นอย่างมากทั่วโลก

หากพิจารณาว่าพ่อมดตลาดหุ้นอย่างบัฟเฟตต์ ไม่เคยลงทุนด้วยอารมณ์หรือสัญชาตญาณเป็นหลัก แต่มีการประเมินข้อมูลที่รอบคอบเข้าช่วย การเข้าลงทุนในธุรกิจที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเมิน จึงเป็นมิติใหม่ที่ท้าทายว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่หลายคนก็เชื่อว่า รากฐานทางการเงินที่มีงบแข็งแกร่ง และมีการเติบโตที่ยั่งยืน (แม้จะถดถอยในบางช่วง) ของแอปเปิ้ล อิงค์  จะทำให้โอกาสล้มเหลวของการลงทุนครั้งสำคัญนี้ ต่ำกว่าสำเร็จ

สูตรสำเร็จของการลงทุนแบบ “ชาวสวน” ที่บัฟเฟตต์ใช้มาตลอดชีวิตของเขานั้น  บัฟเฟตต์เคยย้ำให้นักลงทุนที่เป็นสาวกตระหนักตลอดมาว่า การแสวงหาและคัดเลือกหุ้นดีๆ ที่คนทอดทิ้งแล้วจะดีกว่าหุ้นพิมพ์นิยม เพราะราคาหุ้นยังต่ำ (ราคาไม่ถูกขับเคลื่อนด้วยมูลค่าตลาด) เพราะการ “พบก่อน” ที่นักวิเคราะห์และตลาดเริ่มเข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้น ก็จะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากโดยไม่ต้องไปปวดหัวกับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นโดยรวมอยู่ตลอดเวลา

กรณีของแอปเปิ้ล อิงค์ จึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาครั้งใหม่ ไม่ว่าบัฟเฟตต์จะสำเร็จหรือล้มเหลว

Back to top button