พาราสาวะถี อรชุน
๑๑เป็นการตบหน้าบรรดาขาใหญ่ในรัฐบาลทั้งหลายที่ชื่นชมบรรยากาศการเปิดเวทีให้พรรคการเมืองได้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการประทำประชามติผ่านเวทีที่กกต.จัดขึ้น ถึงขั้นฝันหวานกันไปว่าจะมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เข้มงวดกับพรรคการเมือง เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับจากรัสเซีย ไม่มีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น
เป็นการตบหน้าบรรดาขาใหญ่ในรัฐบาลทั้งหลายที่ชื่นชมบรรยากาศการเปิดเวทีให้พรรคการเมืองได้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการประทำประชามติผ่านเวทีที่กกต.จัดขึ้น ถึงขั้นฝันหวานกันไปว่าจะมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เข้มงวดกับพรรคการเมือง เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับจากรัสเซีย ไม่มีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น
รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนมาตรา 61 ของกฎหมายประชามติ พร้อมๆ กับการสบถด่านักการเมืองว่า ได้คืบจะเอาศอก ก็บอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว จะไปคาดหวังอะไรมากกับโอกาสที่เขาได้เปิดช่องให้หายใจ หากคิดไม่ออก ก็ลองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ก่อนเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการเชิญกลุ่มต่างๆ มาพูดคุย แล้วบทสรุปเป็นอย่างไร
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีทางที่คนซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะปล่อยให้มาตรการที่วางกันไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จ ในการควบคุมคนที่เห็นต่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้น คงไม่ขู่กันตั้งแต่กฎหมายประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ทั้งพวกรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมขู่ด้วยโทษจำคุกหนักถึง 10 ปี
นี่คือท่าทีของท่านผู้นำซึ่งทรงพลังด้วยอำนาจวิเศษมาตรา 44 จะมีใครกล้าหือ เมื่อบทสรุปเป็นอย่างนี้ เรื่องที่คุยกันว่าจะมีเวทีครั้งต่อๆ ไปคงไม่ต้องพูดถึง สรุปแล้วจะมีเพียงกรธ. สนช.และสปท.รวมทั้งอาสาสมัครนับล้านคนที่เป็นเครือข่ายครู ก-ข-ค เท่านั้นที่สามารถพูดถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญได้ ส่วนใครที่แสดงความเห็นเป็นอย่างอื่นระวังว่าจะมีคดีความส่งไปกองที่กกต.ให้ตีความวินิจฉัย
ล่าสุด คณะนิติราษฎร์ซึ่งได้ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านี้ ได้มีการแจกเอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และเอกสารฉบับการ์ตูน “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต” ในงานบรรยายพิเศษเรื่อร่างรัฐธรรมนูญในทัศนะของคณะนิติราษฎร์
โดยมี ปิยบุตร แสงกนกกุล และ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ สองอาจาร์ของกลุ่มเป็นผู้บรรยาย โดยปิยบุตร ประกาศชัด การทำประชามติครั้งนี้จะทำให้สิ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาหลอกหลอนประชาชนต่อไป แม้ว่าประเทศจะมีรัฐธรรมนูญถาวรแล้วก็ตาม เพราะมีการนำสิ่งที่ผิดรัฐธรรมนูญสมัยก่อนมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เป็นการนำเอาเผด็จการมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คณะนิติราษฎร์จึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะถ้ารับเท่ากับเรายอมรับสิ่งผิดปกติมาแทนสิ่งปกติ ยอมรับข้อยกเว้นเป็นเรื่องปกติ ยอมรับระยะเวลา 2 ปีที่บอกว่าชั่วคราวให้เป็นถาวร ทั้งนี้ เห็นว่าควรคืนอำนาจการร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเองต่อไป
ท่าทีดังกล่าวได้รับการตอบโต้ในทันทีจาก สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรธ.คนที่ 1 ที่บอกว่า ไม่ขอออกความเห็น แต่ต้องให้กกต.เป็นผู้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวว่าผิดต่อระเบียบหรือกฎหมายหรือไม่ พร้อมกับการบอกว่าตอนนี้กรธ.ต้องคอยติดตามสถานการณ์ เพราะมีการบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก เป็นการพูดแบบกว้างๆ เหมือนการออกกฎหมายประชามติหรือเปล่า
แต่ก็พอจะเข้าใจได้ คนอย่างสุพจน์นั้นได้ผ่านการพิสูจน์เรื่องทัศนคติมาแล้วว่าเป็นอย่างไร จากกรณีการทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้วยความเห็นว่า ต้องให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศไทยก่อนแล้วค่อยทำรถไฟความเร็วสูง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่นักข่าวถามถึงผลงาน 2 ปีของคสช.จึงได้รับคำตอบว่า ไม่ฝากอะไรไปถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน
คนเรานั้นหากยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างแท้จริงและมีจุดยืนที่แข็งขัน จะต้องกล้าที่จะวิจารณ์หรือไม่ก็คัดค้านในสิ่งที่ตัวเองได้แสดงความเห็นไว้แล้วก่อนหน้า ก็โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชของคสช. มันดีเลิศประเสริฐศรีอย่างไร คนอย่างสุพจน์ถึงไม่ต่อต้านซักแอะ ทำไมไม่ยอมพูดว่ารอให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน อย่างนี้จะเรียกว่าผลประโยชน์ในตำแหน่งมันยัดปากอยู่หรือเปล่า
ผิดกับคนที่ถูกยึดอำนาจและถูกตีตกโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่สุพจน์มีส่วนร่วม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วิจารณ์ 2 ปีของคสช.ตามแนวทางของนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย วันครบรอบ 2 ปีรัฐประหารที่รัฐบาลดิฉันถูกยึดอำนาจไป แต่แท้จริงแล้ว อำนาจ สิทธิและเสรีภาพคือของประชาชนต่างหากที่ถูกลิดรอน โดยใช้เหตุผลว่ารัฐบาลของดิฉันทำงานไม่ได้ จึงเข้ามายึดอำนาจ เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง สร้างความชอบธรรมให้กับทุกฝ่ายและเพื่อต้องการปฏิรูปประเทศ
ได้แต่หวังว่าคสช.คงจะไม่ลืมสัญญา และขอฝากคำถามว่า ความสามัคคีปรองดอง สร้างความชอบธรรมให้กับทุกฝ่าย ได้เกิดขึ้นในทิศทางที่ถูกต้องหรือเปล่า รวมทั้งเร่งรัดในการปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตามโรดแมปที่ได้สัญญาไว้ เพราะวันนี้ประชาชนกำลังจะเผชิญกับความยากลำบาก จากปัญหาปากท้อง ความยากจน รวมถึงปัญหาสังคม ยาเสพติดที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
อยากให้เร่งคืนความสุขที่เป็นการคืนอำนาจ สิทธิ อิสรภาพและเสรีภาพ รวมทั้งการแก้ไขความขัดแย้งแทนการคืนความสุขบนความอึดอัดด้วยการกดไว้เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่มากกว่า เพื่อให้ประชาชนนั้นได้มีโอกาสเลือกหนทางชีวิตด้วยตัวของเขาเอง นั่นคือหนทางออกที่ดีที่สุด ถ้าทำได้ก็จะทำให้สองปีที่ผ่านมานั้นเป็นสองปีที่ไม่สูญเปล่า
ขณะที่ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือ YPD ออกแถลงการณ์ “2 ปีรัฐทหารการปฏิรูปที่ไม่มีอยู่จริง” โดยชี้ให้เห็นว่า หากมองถึงความสำเร็จของการปฏิรูปก็พบว่ารัฐบาลแทบจะไม่ปฏิบัติตามคำกล่าวอ้างดังกล่าว ไม่มีหลักการที่ชัดเจนเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การให้สิทธิและโอกาสทางการเมืองที่เท่าเทียมกันแก่คนในสังคม ซ้ำร้ายยังมีการขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการและพรรคพวกของตนเองหรือความพยายามที่จะตัดสวัสดิการของประชาชน
ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองว่า นโยบายหรือแนวปฏิบัติของรัฐบาลคสช.หลังรัฐประหารไม่อาจก่อให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใดและไม่เอื้อให้เกิดความปรองดองในชาติ และเห็นว่ารัฐบาลคสช.ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เกิดการเลือกตั้ง และเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแก้ไขความผิดพลาดในการออกกฎหมายคำสั่งที่ผิดหลักนิติธรรมโดยเร็ว มิเช่นนั้นหลักนิติธรรมของไทยจะสูญหายไปอย่างถาวร ข้อเรียกร้องเช่นนี้คงยากที่ผู้มีอำนาจจะทนฟังและรับได้ อยู่ที่ว่าจะแสดงปฏิกิริยาตอบกลับอย่างไรเท่านั้นเอง