โลกของ ปตท.พลวัต 2016

ข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงของ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับประเด็นปัญหา การคืนท่อก๊าซของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ออกมาตอกย้ำความไม่ชอบมาพากลของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในกรณีกล่าวหาว่า บริษัทคืนท่อก๊าซไม่ครบตามคำสั่งศาลปกครอง เป็นข้อมูลที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างมาก แต่ในมุมของกลุ่มต่อต้าน ปตท.แล้ว ไม่มีสายตาและหูสำหรับใส่ใจกับข้อมูลเหล่านี้แม้แต่น้อย เข้าข่าย “ลิง 3 ตัว” ที่โง่เขลา


วิษณุ โชลิตกุล

 

ข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงของ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับประเด็นปัญหา การคืนท่อก๊าซของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ออกมาตอกย้ำความไม่ชอบมาพากลของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในกรณีกล่าวหาว่า บริษัทคืนท่อก๊าซไม่ครบตามคำสั่งศาลปกครอง เป็นข้อมูลที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างมาก แต่ในมุมของกลุ่มต่อต้าน ปตท.แล้ว ไม่มีสายตาและหูสำหรับใส่ใจกับข้อมูลเหล่านี้แม้แต่น้อย เข้าข่าย “ลิง 3 ตัว” ที่โง่เขลา

สาระสำคัญของนายอำนวยอยู่ที่ว่า ปตท.ได้ทำการคืนท่อก๊าซครบหมดตามขั้นตอน และ ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  แต่ในทางตรงกันข้าม ข้อกล่าวหาของ คตง. และ สตง. กลับเป็นข้อกล่าวหาที่ปราศจากซึ่งเหตุและผลทุกประการ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่สำคัญ เป็นการดูหมิ่นศาลปกครอง และยังละเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. ที่ให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่มีปัญหา โดยให้ได้ข้อยุติต่อไป แต่กลับมาสรุปเองว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของนายอำนวยนั้น ระบุชัดว่า

1)คตง. และ สตง. ตั้งใจปกปิดไม่แถลงต่อสื่อมวลชนและประชาชน ทั้งในคำสั่งศาลปกครอง ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 และวันที่ 10 มีนาคม 2552 ที่ระบุว่ามีการคืนท่อครบแล้ว โดยมีข้อเท็จจริงสำคัญคือ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 สตง. มีหนังสือลับถึงศาลปกครองสูงสุดและนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษายังไม่ครบ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า “ทั้งนี้การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ บมจ. ปตท. ให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดซึ่งคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่ยุติ” แต่ต่อมา วันที่ 10 มีนาคม 2552 ศาลปกครองได้มีหนังสือตอบ คตง. และ สตง. ว่า ศาลปกครองได้ติดตามการดำเนินการตามคำพิพากษาและรายงานให้ศาลทราบ ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2)ตลอดหลายปีมานี้  สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินของ บมจ.ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะรัฐวิสาหกิจของประเทศ โดย สตง. รับรองแบบไม่มีเงื่อนไขมาโดยตลอด ทั้งที่ สตง. เองเป็นผู้ทักท้วงมาโดยตลอด บมจ.ปตท.โอนทรัพย์สินไม่ครบ เท่ากับว่า สตง.ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อ ตลท. และผู้ถือหุ้นของ บมจ.ปตท. ผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงและต้องมีผู้รับผิดชอบ

ประเด็นของนายอำนวยนั้น นอกจากจะไม่ได้รับความใส่ใจจากคนที่อ้างว่ารู้เรื่องการคืนท่อก๊าซไม่ครบอย่างกลุ่มต่อต้านปตท.ทั้งหลาย (รวมทั้งอดีตรัฐมนตรีว่ากรกระทรวงการคลังที่น่าจะมีความรู้เรื่องนี้ดีคนหนึ่ง หากมีอคติเกินขนาดจนหน้ามืดตามัว) ถึงขั้นระบุต่อไปชนิด “หาเรื่อง” ว่า อาจจะมีการกระทำความผิดกฎหมายในขั้นตอนยื่นคำร้อง เฉไฉไปอีกทางหนึ่งอย่างมีเจตนา “เล่นไม่เลิก”

การปฏิบัติการไล่ล่าเพื่อค้นหาความผิดของปตท.ที่ดำเนินการมายาวนานนับตั้งแต่แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการเสริมแต่งประเด็นข้อกล่าวหาไปได้เรื่อยๆ จากเริ่มต้นว่า 1) มีการกระจายหุ้นอย่างฉ้อฉล 2) มีการรอนสิทธิ์ของประชาชนผู้เสียภาษีและ “ขายชาติ” 3) มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ผู้บริหารปตท.เกินจริง และแพงที่สุดในโลก ซึ่งไม่มีข้อมูลสนับสนุน 4)  มีการคืนท่อก๊าซไม่ครบ และล่าสุด มีการกระทำผิดกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ จะเห็นถึงกระบวนการสมคบคิดที่จะหาทางทำลายล้างใครบางคน รวมทั้ง บริษัทน้ำมันแห่งชาติเช่นปตท.อย่างชัดเจน โดยที่ใครบางคนที่ซ่อนตัวเบื้องหลังอำนาจรัฐสมรู้ร่วมคิดด้วย เพียงแต่อำพรางตัวอยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าวเอาไว้เท่านั้น

โดยข้อเท็จจริง การแปรสภาพของปตท.เป็นบริษัทมหาชน ไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจของปตท.โปร่งใสมากขึ้น (แม้จะไม่ทั้งหมด) แต่ก็ทำให้คนทั่วไปเข้าใจบทบาทของบริษัทน้ำมันแห่งชาติมากขึ้น ไม่ใช่แดนสนธยาแบบเดิม

ที่สำคัญกว่านั้น ความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการของปตท. ทำให้ธุรกิจที่มีขนาดสินทรัพย์เพียงแค่ 4 แสนล้านบาทในอดีต และมีหนี้สินรุงรังให้เป็นภาระของรัฐบาลในเรื่องหนี้สาธารณะ สามารถปลดพันธนากรดังกล่าวไปได้ และสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงสารพัดในโลกทุนนิยมได้อย่างดีเยี่ยม

ข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 2558 ที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกดิ่งเหวจากระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาเหลือที่ระดับต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กำไรของปตท.แม้จะทรุดหนัก แต่ก็ยังทำกำไรไว้ได้ และในปีนี้ กลับสามารถที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากว่ายังมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจแบบในอดีต

เมื่อวานนี้ ผู้บริหารของปตท.ออกมาระบุในการแถลงข่าวว่า ปีนี้ คาดกำไรจากการดำเนินงานจะค่อนข้างมีเสถียรภาพ แม้ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันอาจจะมีค่าการกลั่น  (GRM)  ที่อ่อนตัวลง และคาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้ที่ยังอยู่ระดับต่ำราว 35-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล  แต่การที่ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงตามหลังราคาน้ำมันนั้น จะช่วยทำให้มาร์จิ้นของธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติดีขึ้น รวมทั้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์  (NGV)  ในปีนี้ก็เชื่อว่าจะเป็นปีแรกที่ไม่มีผลขาดทุน หลังรัฐบาลปล่อยลอยตัวราคา

นอกจากนั้น สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้ยังคงมีความผันผวน ซึ่งปตท.ก็จะบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบ natural hedge  ที่มีรายได้ส่วนใหญ่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สินที่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐอยู่บางส่วน โดยค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐที่เปลี่ยนแปลงทุก 1 บาทก็จะกระทบต่อกำไรของปตท.ราว 1,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ

ส่วนกรณีความเห็นต่างของการคืนท่อส่งก๊าซฯปตท.นั้น ปตท.ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมหารือกับทุกฝ่ายตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครอง

จะเห็นได้ชัดว่า โลกของปตท.ในปัจจุบันในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น ยังคงเดินหน้าไปได้ด้วยดี ภายใต้การบริหารงานแบบมืออาชีพ โลกของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่แข็งแกร่งอย่างนี้ จะหาได้จากไหนง่ายๆ ค่อนข้างยาก แต่คนที่อยู่ในโลกของอคติและความเกลียดชัง พร้อมจะทำลายล้างด้วยข้อเท็จจริงเพื่ออะไรก็ไม่ชัดเจน ก็ยังคงพึงพอใจจะอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่ตรงกันข้าม

โลกของปตท.ในฐานะธุรกิจเสาหลักของประเทศ กับโลกของกลุ่มต่อต้านเช่นนี้ น่าจะเป็นเส้นขนานไม่รู้จบไปอีกยาวนาน และนี่คือภาพสะท้อนสังคมไทยได้ดียิ่ง ไม่ต้องดูอื่นไกล

Back to top button