จับตาครม.วันนี้พิจารณาข้อพิพาทค่าทางด่วนระหว่าง BEM กับ กทพ.
จับตาครม.วันนี้พิจารณาข้อพิพาทค่าทางด่วนระหว่าง BEM กับ กทพ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้จับตา ประชุมครม.ว่าจะมีการถกประเด็นคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่มีการรวบรวมส่งวาระพิเศษกรณีคดีข้อพิพาทการปรับค่าผ่านทางปี 2546 กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ทางครม.พิจารณาขาดว่า กทพ.ควรสู้คดีต่อหรือไม่
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 พ.ค. คณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่มีพล.อ.สุชาติ วิวรรธน์ เป็นประธาน ประชุมด่วนเป็นวาระพิเศษกรณีคดีข้อพิพาทการปรับค่าผ่านทางปี 2546 กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เนื่องจาก รมว.คมนาคม มีคำสั่งด่วนที่สุดให้บอร์ด กทพ.พิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง หลังได้หนังสือร้องเรียนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ.คัดค้านมติบอร์ดที่ระบุว่าไม่มีเหตุที่จะฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อต่อสู้คดีค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 46 กับ BEM เนื่องจากคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากได้มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 12 ก.พ.59 ให้ กทพ.ชดเชยค่าเสียหายแก่ BEM แล้ว
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่า กทพ. เปิดเผยว่า วานนี้บอร์ดได้พิจารณาทบทวนมติเดิมและมีมติเห็นชอบที่จะต่อสู้คดีต่อไป โดยยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง แต่ก็ไม่ปิดกั้นวิธีการอื่น เช่น การเจรจากับ BEM เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยอยู่บนพื้นฐานว่าภาครัฐต้องได้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ กทพ.จะรวมรวบมติบอร์ดนำส่งกระทรวงคมนาคมในวันนี้เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาชี้ขาดว่า กทพ.ควรสู้คดีต่อหรือไม่ โดยจะเสนอ ครม.วันที่ 24 พ.ค.59 เพื่อให้ทันกำหนด 90 วัน ที่กทพ. จะสามารถยื่นคัดค้านคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 มิ.ย.นี้
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ (24 พ.ค.) ว่า BEM การประชุมครม.วันนี้จะพิจารณาข้อพิพาทค่าทางด่วน 8 พันล้านบาท (เงินต้น 4.4 พันล้านบาท + ดอกเบี้ยที่คิดเป็นรายวันตั้งแต่ เม.ย. 2008) ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตั้งแต่ต้น มี.ค. ให้กทพ.จ่ายค่าชดเชยให้ BEM ทางเลือกมี 3 ทางคือ 1. กทพ.ชำระเป็นเงินสด 2. หากไม่มีเงินจ่าย เปลี่ยนเป็นการขยายอายุสัมปทานแทน (BEM ขอต่อ 10 ปี) 3. ไปสู้คดีในศาลปกครอง
โดยคิดว่าการขยายอายุสัมปทานเป็นไปได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ กทพ. และยังได้ส่วนแบ่งรายได้ (60%) จาก BEM ด้วย สำหรับเม็ดเงิน 8 พันล้านบาทคิดเป็น 2.5 เท่าของกำไรของ BEM หรือคิดเป็น 0.53 บาท/หุ้น ราคาหุ้นที่ปรับลงมามองเป็นโอกาสในการซื้อ ไม่เกี่ยวกับคดีดังกล่าว แต่เป็นโอกาสในการได้งานรถไฟฟ้าสายสีส้ม (คาดเปิดประมูล 2H16) ซึ่งจะเชื่อมกับสายสีน้ำเงินที่ให้บริการอยู่