พาราสาวะถี อรชุน
วันนี้ขอพักวางการพูดถึงความวุ่นวายในมิติทางการเมือง โดยหันไปคุยกันเรื่องศีลธรรมและศาสนากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเสียหน่อย ไม่ใช่เหตุเพราะดีเอสไอถือหมายจับเตรียมตะครุบตัว ธัมมชโย หรือจะเงื้อง่าราคาแพงกันต่อไป หากแต่เป็นเพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมามีคนพูดถึงเรื่องความมีอารยะและอ้างหลักของศาสนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
วันนี้ขอพักวางการพูดถึงความวุ่นวายในมิติทางการเมือง โดยหันไปคุยกันเรื่องศีลธรรมและศาสนากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเสียหน่อย ไม่ใช่เหตุเพราะดีเอสไอถือหมายจับเตรียมตะครุบตัว ธัมมชโย หรือจะเงื้อง่าราคาแพงกันต่อไป หากแต่เป็นเพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมามีคนพูดถึงเรื่องความมีอารยะและอ้างหลักของศาสนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
ตามประสาคนไกลวัด คงมิอาจจะแสดงความเห็นอันลึกซึ้งในมิติของปรัชญาด้านศาสนาได้ ดังนั้น จึงขอหยิบยกเอาบทความของ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญาที่เขียนเรื่องมายาคติของศาสนา ศีลธรรมแบบไทย เพื่อให้เราได้นึกทบทวนว่าที่ผ่านมาการเอ่ยอ้างถึงศีลธรรมจรรยาตามหลักพระพุทธศาสนานั้น แท้จริงแล้วเราได้ดำเนินการกันอย่างบริสุทธิ์กันมากน้อยเพียงใด
ในสังคมอารยะอย่างไทยนั้น เรามีสิ่งสูงส่งดีงามที่มีความละเอียดอ่อนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทำให้เราต้องมีการใช้อำนาจพิเศษ มีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล นี่อาจเป็นเรื่องที่สังคมโลกไม่เข้าใจเรา เพราะเขาไม่มีอารยะ ไม่มีความละเอียดอ่อนเหมือนเรา เป็นหน้าที่ของเราคนไทยที่ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ
ไม่ใช่เพียงผู้มีอำนาจในรัฐบาลคสช.เท่านั้นที่มองสังคมตัวเองและสังคมอื่นเช่นนั้น ปราชญ์พุทธศาสนาไทยก็เคยมองว่า ศีลธรรมแบบฝรั่งเป็นศีลธรรมแบบเทวบัญชา มีลักษณะเป็นพันธะหรือ obligation ที่บังคับให้คนต้องทำตาม ศีลธรรมจึงเป็นเรื่องของความจำใจ จำยอม ไม่มีเสรีภาพหรืออิสระที่จะเลือกแบบศีลธรรมพุทธศาสนานอกจากนี้ท่านยังมองว่า ถ้ามนุษย์หมู่มากมีศีล 5 สิทธิมนุษยชนก็ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม สุรพศกลับมองอย่างเข้าใจได้ว่า สังคมตะวันตกที่เขาอ้างว่า การมีเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องหมายของความเป็นอารยะนั้น มันมีความหมายว่าสิ่งที่บ่งบอกความเป็นอารยะคือการมีระบบการปกครอง ศีลธรรม กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่เคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชน
แต่ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สังคมไทยที่มีความเป็นอารยะและละเอียดอ่อนมากกว่าเขานั้น ทำไมจึงปกป้องความเป็นอารยะนั้นด้วยการมีระบบการปกครอง มีระบบศีลธรรม กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ของประชาชนมุมมองความเป็นอารยะของตัวเองเช่นนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยมายาวนานได้อย่างไร
เราถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า ศีลธรรมมาจากศาสนา และศาสนาที่สร้างรากฐานศีลธรรมสำหรับสังคมไทยก็คือพุทธศาสนา แต่ถ้ามองจากมุมมองอื่น เช่นมุมมองแบบค้านท์หรือ Immanuel Kant ศีลธรรมเป็นคนละเรื่องกับศาสนา การที่คุณทำตามกฎศาสนา หรือคำสั่งของพระเจ้า หรือทำตามอิทธิพลความเชื่อทางศาสนา และประเพณีแบบใดๆ ย่อมไม่ใช่การกระทำที่มีค่าเป็นความดีทางศีลธรรม เพราะนั่นเป็นการกระทำที่มีเงื่อนไขกำหนดให้คุณต้องทำ ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากเหตุผลและเสรีภาพของตนเอง
การกระทำที่จะมีศีลธรรมหรือมีค่าเป็นความดีทางศีลธรรมได้ ต้องเกิดจากเหตุผลของตนเองบอกว่าอะไรคือความถูกต้องและใช้เสรีภาพเลือกกระทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นด้วยตนเอง เพราะถือว่าสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แต่การกระทำหรือกฎ กติกาอะไรก็ตามที่จะเป็นความถูกต้องได้นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเสมอภาค ความเป็นมนุษย์ก็คือความเป็นสัต(สัตในวิธีเขียนของสุรพศทวีศักดิ์)ที่มีเหตุผล อิสรภาพและมีจุดหมายหรือศักดิ์ศรีในตัวเอง
แปลว่า เราจะมีศีลธรรมได้เราต้องมองตัวเองและคนอื่นๆ ผ่านเปลือกนอกต่างๆ เช่น ชาติพันธุ์ เพศ ผิว ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ทะลุไปถึงความเป็นมนุษย์ที่ “pure” ซึ่งเป็นความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเหมือนกันอย่างสากลคือ ความเป็นสัตที่มีเหตุผล เสรีภาพ มีจุดหมายหรือศักดิ์ศรีในตัวเองอย่างเสมอภาค ศีลธรรมจึงเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนร่วมกันสร้างขึ้นจากเหตุผลและเสรีภาพของเราเอง และสร้างมันขึ้นบนการเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นเท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุนี้ศีลธรรมจึงไม่ผูกติดกับศาสนา ตรงกันข้ามศาสนาอาจไม่มีศีลธรรม หากเป็นศาสนาที่ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ ฉะนั้น การกระทำใดๆ ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ เช่น การละเมิดเสรีภาพจึงเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม นักเสรีนิยมสายค้านท์ถือว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง ยืนยันกระทั่งว่า รัฐจะบังคับยัดเยียดคุณค่าหรือความเชื่อเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีใดๆ แก่ประชาชนไม่ได้
รัฐต้องเป็นกลางทางคุณค่า มีหน้าที่รักษาสิทธิเป็นกติกากลางให้ปัจเจกบุคคลมีสิทธิเท่าเทียมในความมีอิสระที่จะเลือกสิ่งที่ดีคุณค่าหรืออุดมคติใดๆ สำหรับตนเองก็ได้ ตราบที่เขายังเคารพสิทธิเดียวกันนี้ของคนอื่น ที่ปราชญ์พุทธศาสนาบ้านเรากล่าวว่าศีลธรรมแบบฝรั่งเป็นศีลธรรมแบบบังคับ จำยอม ก็อาจจะถูกหากหมายเฉพาะศีลธรรมภายใต้อำนาจศาสนจักรยุคกลาง
แต่ถ้าหมายถึงศีลธรรมตั้งแต่ยุคสว่างถึงยุคสมัยใหม่เป็นต้นมา นักปรัชญาสมัยใหม่ล้วนคิดคล้ายกับค้านท์ คือศีลธรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพ หรือพูดให้ตรงคือ ศีลธรรมเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและการปกป้องความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นค้านท์จึงต้อนรับเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนในฝรั่งเศสด้วยน้ำตาแห่งความปลื้มปีติ
ว่าแต่ศาสนา ศีลธรรมที่เป็นรากฐานของการตัดสินเรื่องถูกผิดในสังคมไทยพ้นไปจากทัศนะทางศีลธรรมแบบยุคกลางแล้วหรือยังทำไมเรายังต้องมีระบบการปกครองและกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพเพื่อปกป้องความเป็นอารยะแบบเรา ทำไมจึงต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญป้องกันการบ่อนทำลายศาสนาและอื่นๆ ที่ล้วนมีลักษณะขัดหลักเสรีภาพและลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชน
นี่แหละคือศีลธรรมแบบไทยๆ ที่มีบางคนสั่งสอนให้เด็กๆ ยึดมั่นในหลักศีล 5 ไม่พูดโกหกเดี๋ยวตกนรก เป็นศีลธรรมแบบพวกท่องจำยึดตามตัวหนังสือเป๊ะๆ แต่ตัวเองเรื่องง่ายๆ อย่างการระงับยับยั้งความโกรธยังทำไม่ได้ หลายครั้งแสดงความโมโหโกรธา ออกอาการน็อตหลุดต่อหน้าสาธารณะ แล้วก็เที่ยวโทษโน่นนี่นั่น สำคัญตัวเองเป็นคนดีอยู่คนเดียว มันเป็นเสียอย่างนี้เลยทำให้นึกภาพไม่ออกว่าทางข้างหน้าของบ้านเมืองที่จะเดินกันต่อไปนั้นมันจะเป็นปึกแผ่นและมีแก่นสารได้อย่างไร