สิงโต(ไม่)กินหนอน???แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

ดีลการซื้อหุ้นบางส่วนระหว่างบริษัทผลิตเซรามิก 2 รายที่มีตัวเลขทำกำไรน้อยนิด แถมบางปีขาดทุนสลับ ระหว่าง บริษัท สหโมเสค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI กับ บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ RCI เมื่อต้นปี 2556 อาจจะนานจนหลายคนลืมไปแล้ว แต่ผลข้างเดียงก็ถูกเปิดเผยออกมาเมื่อมีข้อกล่าวโทษจาก ก.ล.ต.ว่าผู้บริหาร 4 คน (ร่วมกับพวก) ของ UMI สมคบคิดสร้างราคา หุ้น UMI ชนิด “ปล้นกลางแดด”


ดีลการซื้อหุ้นบางส่วนระหว่างบริษัทผลิตเซรามิก 2 รายที่มีตัวเลขทำกำไรน้อยนิด แถมบางปีขาดทุนสลับ ระหว่าง บริษัท สหโมเสค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI กับ บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ RCI เมื่อต้นปี 2556 อาจจะนานจนหลายคนลืมไปแล้ว แต่ผลข้างเดียงก็ถูกเปิดเผยออกมาเมื่อมีข้อกล่าวโทษจาก ก.ล.ต.ว่าผู้บริหาร 4 คน  (ร่วมกับพวก) ของ UMI สมคบคิดสร้างราคา หุ้น UMI ชนิด “ปล้นกลางแดด

แม้ข้อกล่าวหาจะล่าช้านานถึง 3 ปี อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ ก.ล.ต. ถนัด (เร็วไป ไม่ใ ช่ ก.ล.ต.ไทย แน่นอน) และนักลงทุนคุ้นเคย …หมางเมินกับหลักปรัชญากฎหมายที่ว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือ อยุติธรรม

แม้ไม่มีใครอยากเชื่อว่า สิงโตจะกินหนอน …แต่ข้อกล่าวหาก็เกิดขึ้น

ก.ล.ต. ระบุว่า ได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดกรณีสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นของบริษัท สหโมเสค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (UMI) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำนวน 4 ราย ได้แก่ (1) นางสาวปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์  (2) นางปัณพร เหล่าวิวัฒน์วงศ์ (3) นางสาววรัญญา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ และ (4) นายตรัยรัธน์ ตรีรัตนพันธุ์

ข้อกล่าวโทษ บอกว่า ระหว่างวันที่ 9 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2556 นางสาวปวีณา ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการของ UMI รวมถึงนางปัณพร นางสาววรัญญา และนายตรัยรัธน์ ได้ตกลงหรือร่วมรู้เห็นกับบุคคลอีก 9 ราย ในการใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนหลายบัญชี เพื่อสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น UMI ในลักษณะอำพราง เพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่าหุ้น UMI มีการซื้อขายกันมาก ผ่านการซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องจนผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

ภาษากฎหมายของ ก.ล.ต. สรุปได้ว่า คนทั้ง 13 คน (เท่าที่มีหลักฐาน) ได้สั่งออเดอร์ซื้อขายสร้างวอลุ่มชี้นำให้ตลาดเข้าใจผิด (ตามสัญญาณทางเทคนิค)…เข้าข่ายปั่นราคาเพื่อล่อนักลงทุน “แมงเม่า” ให้กระโดดเข้าใส่ แล้วทำกำไร

การกระทำของบุคคลทั้งหมด เกิดขึ้นในระหว่างที่ UMI ทำข้อเสนอซื้อหุ้น 30-40% ของ RCI กำลังจะบรรลุเป้าหมาย

การเข้าซื้อหุ้นใน RCI ที่ยามนั้นมีปัญหาขาดทุนเรื้อรัง เกิดขึ้นนับตั้งแต่มติที่ประชุมคณะกรรมการของ UMI วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งมีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าลงทุนใน RCI ผ่านการทำคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นของ RCI ที่ราคา 0.90 บาทต่อหุ้น

เวลาที่มีมติดังกล่าว ราคาหุ้นของ UMI อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2.00 บาทมาตลอด แต่เมื่อถึงเดือนธันวาคม 2555 ราคาหุ้นถูกดันให้วิ่งขึ้นไปที่ระดับ 3 บาทจนถึงสิ้นปี ก่อนที่ในเดือนมกราคม 2556 ราคาจะวิ่งขึ้นอย่างรุนแรงถึงระดับ 20.00 บาทในเดือนเมษายน และราคาก็ผันผวนอยู่ที่ระดับเหนือ 20 บาทจนถึงเดือนมิถุนายน โดยราคาพุ่งไปจนถึงระดับสูงสุดที่ 22.50 บาท  ก่อนที่จะโรยตัวลงมาในเวลาต่อมาใต้ 10.00 บาทในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556

จบรอบของการปั่นหุ้น ของ UMI ..

ล่าสุด ราคาหุ้นของ UMI อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4.00 บาท โดยมีการซื้อขายแต่ละวันต่ำมาก

ในขณะที่ราคาหุ้นของ RCI ก็ปรับตัวทะยานขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันอย่างร้อนแรงไม่ต่างกัน จากที่เคยอยู่ระดับต่ำกว่า 1.00 บาท ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคม 2556 ที่ระดับ 6.00 บาท แล้วโรยตัวลงมาที่ระดับ 3.50 บาท แล้วทะยานใหม่อีกหลายรอบไปทำจุดสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม  2558 ที่ระดับ 6.80 บาท แล้วโรยตัวลงมาที่ระดับล่าสุด 2.60 บาท ด้วยการซื้อขายเบาบาง …จบรอบเช่นกัน

การกระทำดังกล่าว …ไม่มีใครรู้ว่าแมงเม่าที่ตกเป็นเหยื่อในช่วงการลากหุ้นไปเชือด  ซึ่งรวมถึงผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ นำโดย น.ส. ปวีณา  และพวก (ตามที่ ก.ล.ต.กล่าวหา) มีจำนวนเท่าใด และเสียหายมากเท่าใด. สำหรับจ่ายเป็นค่าโง่ของความโลภ

                 สตอรี่ที่สร้างขึ้นมา ซึ่ง น.ส.ปวีณา ในฐานะตัวแทนของกลุ่มเพ็ญชาติ ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ UMI กล่าวถึงช่วงนั้นบ่อยครั้ง ถึงยุทธศาสตร์ “พลังผนึก” ที่ว่า การถือหุ้นร่วมของบริษัทผู้ผลิตกระเบื้องเซารามิก โดยมี UMI เป็นแกนกลาง ประกอบด้วย 3 บริษัท ได้แก่  UMI,  RCI และบริษัท ที.ที. เซรามิค จำกัด (TTC) จะส่งผลให้ UMI Group มีกำลังการผลิตมากถึง 34 ล้านตารางเมตรต่อปี เป็นระดับหัวแถวของประเทศ

                แผนวาดฝันอันหรูหรานี้ …จะเป็นเพียงแค่ 1) สคริปต์ที่เขียนขึ้นมาเพื่อสร้างราคาหุ้นธรรมดา หรือ 2) ยุทธศาสตร์อันยอดเยี่ยม…ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญที่ผลประกอบการของบริษัททั้ง 3  จะเกิดทั้งรายได้และกำไรสุทธิดีขึ้น..

โชคร้ายที่ ช่องว่างของความฝันและความจริงในเวลาต่อมา ได้ถ่างกว้างจากกัน จนยากจะเชื่อว่าจริง

รายได้ที่ทรงตัวของ UMI ที่ระดับเฉลี่ย 3.5 พันล้านบาท ในปี 2557 และ 2558 ในขณะที่กำไรสุทธิต่ำมากในปี 2557 และขาดทุนในปี 2558 มากถึง 190.34 ล้านบาท รวมทั้งรายได้ที่ถดถอยลงของ RCI ในปี 2557 และ 2558 แล้วยังกำไรที่บอบบางในปี 2557 และขาดทุนสุทธิในปี 2558 ก็บ่งบอกสภาพที่แท้จริงโดยพื้นฐานว่า พลังผนึกที่เคยโอ้อวดเขาไว้ …ไม่ได้มีอยู่จริง

การวิ่งทะยานของราคาหุ้นหลายเท่าในช่วงปี 2556 จึงชวนแก่การตั้งคำถาม…และคำกล่าวหาของ ก.ล.ต.ก็อธิบายได้พอสมควร แต่…ผู้ถูกกล่าวหาก็ยากจะยอมรับผิด

การปฏิเสธของ น.ส.ปวีณา นางปัณพร นางสาววรัญญา และนายตรัยรัธน์ ไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบ เทียบปรับตามความผิด ทำให้ ทาง ก.ล.ต. จำต้องส่งคำกล่าวโทษต่อดีเอสไอ เพื่อดำเนินการต่อไป ผลลัพธ์ทันทีคือ น.ส. ปวีณา จะไม่สามารถเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ใดๆ ได้อีกจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จและมีความผิด

การลาออกจากทุกตำแหน่งใน UMI ของน.ส.ปวีณา ด้วยสาเหตุปัญหาสุขภาพ จึงตามมา…

นี่เป็นแค่ 1 ในกรณีศึกษาว่าด้วย  สิงโตกินหนอน…ตราบใดที่ยังมีตลาดหุ้น..  และ ตราบใดที่ความโลภยังคงมีอิทธิพลเหนือคุณธรรมใดๆ

อิ อิ อิ

Back to top button