แข่งขันในกรอบล้าหลังทายท้าวิชามาร

รัฐบาลดีอกดีใจเป็นการใหญ่ ที่สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น 2 อันดับจาก 30 มาเป็น28 เอ๊ะ ถ้าจำกันได้ สถาบันนี้เคยประกาศให้ไทยอยู่อันดับที่ 27 ในปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ใช่หรือ ก่อนจะสาละวันเตี้ยลงไปเป็นอันดับ 29 ในปี 2557


ใบตองแห้ง

 

รัฐบาลดีอกดีใจเป็นการใหญ่ ที่สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น 2 อันดับจาก 30 มาเป็น28 เอ๊ะ ถ้าจำกันได้ สถาบันนี้เคยประกาศให้ไทยอยู่อันดับที่ 27 ในปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ใช่หรือ ก่อนจะสาละวันเตี้ยลงไปเป็นอันดับ 29 ในปี 2557

สรุปว่าวนไปเวียนมาอยู่แถวนี้เอง เอาไว้เปลี่ยนไปแข่งดูดนม เราคงอยู่อันดับต้นๆ ของโลก

พูดอย่างนี้ไม่ได้โทษรัฐบาลนี้หรอก ท่านพยายามจะทำทุกอย่าง ปรับโครงสร้างโน่นนี่ แต่ถามจริง ปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ไหน ที่พูดกันมากๆ อันดับแรกคงไม่พ้นการศึกษา ที่ผ่านมาได้ปฏิรูปแค่ไหน นอกจากลดเวลาเรียนแล้วบอกว่าจะสอนเด็กคิดเป็น แต่ให้ท่องค่านิยม 12 ประการ พอมีโรงเรียนให้เด็กอนุบาลแต่งชุดทหาร ผู้ใหญ่ในกระทรวงก็ชื่นชม

การศึกษาไทยย่ำเท้าจมเพราะกรอบความคิดจารีตนิยมครอบงำ สอนให้เด็กเชื่อฟัง อยู่ในโอวาท ยิ่งช่วงหลังๆ ที่นิยมปลูกฝัง โตไปไม่โกงก็เอาแต่ให้ท่องคุณธรรม ไม่ส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด เพราะกลัวเสรีภาพจะทำให้เด็กไม่เชื่อฟัง

แต่ขณะเดียวกัน การศึกษาก็กลายเป็นปริญญาพาณิชย์ แข่งกันผลิตแข่งกันปั๊ม กระทั่งมีข่าวคุรุสภาไม่รับรองหลักสูตรปริญญาโทบริหารการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งผลิตออกมาถึง 2,500 คน 

ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นหรอกครับ แต่มีปัญหาทั่วไปทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน ใบปริญญากำลังด้อยค่าลงทุกวัน ขณะที่การได้มาต้องแลกด้วยค่าเรียนแพงลิบ มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังๆ ก็กำลังถูกตั้งคำถาม ออกนอกระบบแล้วตั้งตัวเป็นอิสระ ผู้บริหารผูกขาดสืบทอดอำนาจ อนุมัติหลักสูตรทำมาหากิน

ปัญหาความสามารถในการแข่งขันยังอยู่ที่ไหน ภาคเอกชนพูดทีไร ก็ไม่พ้นกฎระเบียบขั้นตอนต่างๆ ของทางราชการ ยกตัวอย่างล่าสุดที่เป็นเรื่องขำปนสังเวช คือในขณะที่ชูนโยบายเศรษฐกิจดิจิตัล กรมการขนส่งทางบกกลับมีคำสั่งให้ Grab Bike และ UberMOTO หยุดบริการโดยอ้างว่าทำผิดกฎหมาย

ในภาพรวมคือปัญหาระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบล้าหลัง ไร้ประสิทธิภาพ ต่อให้มีคนดีมีความสามารถ ก็ถูกตีกรอบไว้ ระบบราชการไทยใหญ่โตแต่เทอะทะ ไม่เข้มแข็ง ไม่เป็นเอกภาพ ลักษณะเด่นประการหนึ่งคือต่างคนต่างขยายอำนาจ ฉะนั้น คุณจะขออนุมัติอะไรซักเรื่องก็อาจต้องไปผ่าน 7-8 หน่วยงาน

ยิ่งมาระยะหลังๆ ที่สังคมไทยคลั่ง องค์กรอิสระยิ่งต่างคนต่างใหญ่ ยกตัวอย่างเรื่อง ปตท.กับท่อก๊าซ ชาวบ้านงงไหมครับ ศาลปกครองสูงสุดรับรองว่า ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซครบตามคำวินิจฉัยของศาลแล้ว แต่ คตง.กับผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยอมรับ ยังตามราวีอยู่ ใครถูกใครผิดไม่รู้ รู้แต่ว่าต่างคนต่างใหญ่

รัฐบาล คสช.พยายามใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาสาธารณูปโภค หวังเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่ด้านที่สวนทางกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือยิ่งทำให้คนไทยคิดไม่เป็น เพราะปิดกั้นความเห็นต่าง ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ต้องการปลูกฝังให้เด็กเยาวชนมีค่านิยมพิมพ์เดียวกันที่เห็นว่าไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเข้มแข็งของรัฐราชการเพื่อต่อต้านอำนาจจากเลือกตั้ง แทนที่จะมุ่งไปสู่การกระจายอำนาจ ลดอำนาจ ลดขนาดรัฐราชการ

ยกตัวอย่างง่ายๆ จากปี 49 ถึงปัจจุบัน ผ่านรัฐประหาร 2 ครั้ง งบกลาโหมเพิ่ม 2 เท่า นี่เราจะแข่งกับใคร

 

Back to top button