‘อันธพาล’ พลังงานลูบคมตลาดทุน
กำลังสงสัยว่า เหตุใดคนไทยบางกลุ่มถึงไม่ภูมิใจกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของไทย คือ “กลุ่ม ปตท.”
ธนะชัย ณ นคร
กำลังสงสัยว่า เหตุใดคนไทยบางกลุ่มถึงไม่ภูมิใจกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของไทย คือ “กลุ่ม ปตท.”
สมมุติว่าหาก ปตท.ทำธุรกิจผูกขาดจริงๆ ก็ไม่เห็นจะเป็นไร
เพราะรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ในนามของกระทรวงการคลัง กองทุนวายุภักษ์ และกองทุนประกันสังคม รวมๆ กันแล้วก็เกือบๆ 70%
ฉะนั้น รายได้ที่ ปตท.ได้รับ ก็ถูกนำกลับส่งเข้ารัฐบาล
ธุรกิจด้านสาธารณูปโภคของประเทศไทยหลายประเภท รัฐบาลก็ผูกขาดเกือบทั้งนั้น
หากธุรกิจประเภทไหนทำไม่ไหว ก็ต้องให้เอกชนเข้ามาช่วย เช่น ไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ หรืออาจแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ส่วนกรณีของ ปตท.ที่มีการแปรรูป ไม่ใช่ว่ามีปัญหา แต่เพื่อต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านพลังงานกับบริษัทพลังงานข้ามชาติ
หากวันนั้น ปตท.ไม่แปรรูป ก็จะไม่ยิ่งใหญ่ในวันนี้
และคนไทยก็อาจเผชิญกับวิกฤติด้านพลังงานได้ เพราะพลังงานจะอยู่ในกำมือของบริษัทต่างชาติ
ย้อนกลับเมื่อ 25 ปีก่อน สมัยเริ่มทำข่าวใหม่ๆ
ส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมันของ ปตท. (ขณะนั้นยังเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) ยังไม่ได้มากเท่าปัจจุบัน หรือยังเป็นลูกไล่บริษัทน้ำมันข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็น เชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์
ผู้บริหารในสมัยนั้นก็พยายามสร้างบุคลากรด้านพลังงาน
และรวมถึงการดึงคนไทยที่ทำงานอยู่กับบริษัทน้ำมันข้ามชาติ เข้ามาทำงานกับ ปตท. เพื่อช่วยสร้างความเติบใหญ่ให้กับ ปตท.
เป้าหมายก็เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน และแข่งขันกับต่างชาติได้
ผ่านมาถึง ณ วันนี้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
ทว่า ก็ยังหยุดอยู่เพียงแค่นี้ไม่ได้ ปตท.เองก็ยังคงต้องแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยต่อไป
แต่วันหนึ่งก็มีบุคคลกลุ่มหนึ่งมาบอกว่า ปตท.ผูกขาดด้านพลังงานหรือน้ำมัน
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ หรือก่อนที่ปตท.จะใหญ่ในวันนี้ บริษัทน้ำมันข้ามชาติต่างผูกขาดในธุรกิจน้ำมันในประเทศไทย กลับไม่มีการพูดถึง
ย้อนกลับมาที่คนกลุ่มหนึ่ง บอกว่า ปตท.ผูกขาด
ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ผูกขาด (ค้าปลีกน้ำมัน) ยังไง ในเมื่อ เวลาขับรถไปตามท้องถนน ก็ยังพบเจอสถานีบริการน้ำมันของต่างชาติอยู่เต็มไปหมด
ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่ม หรือลดลง ก็เป็นไปตามน้ำมันดิบในตลาดโลก
มีหลายครั้งด้วยนะ ที่บริษัทต่างชาติปรับขึ้นราคาค้าปลีกน้ำมันไปก่อนที่ ปตท. (รวมถึงบางจากฯ) จะปรับราคา
มีคำถามว่า (สมมุติ) หากไม่ให้ ปตท. ผูกขาด แล้วจะไปเพิ่มโอกาสให้กับใคร
บริษัทน้ำมันข้ามชาติหรือ…?
ทั้งหมดนี้ บางทีอาจไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของกระบวนการ การล้มกลุ่มปตท.ก็เป็นได้ เพราะหากเรารักชาติ เราก็ต้องรัก ปตท.
แต่ปัญหา หรือกระบวนการจองเวรกลุ่มปตท. ซึ่งอาจเริ่มมาตั้งแต่การแปรรูปฯ
และอาจมาจากกลุ่มปตท.ไม่ตอบสนองในความต้องการของกลุ่มตนเองในบางเรื่อง รวมไปถึงอาจถูกมองว่า กลุ่มปตท. คือกลุ่ม (ทุน) ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
การเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่จะล้มปตท. ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น
แต่ยังพยายามที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการจัดการด้านสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียม และนำมาซึ่งปัญหาอยู่ในขณะนี้และในอนาคต
กระทั่ง คุณมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันถึงกับโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “เวรกรรมของประเทศไทย”
ธุรกิจพลังงานของไทยน่าเป็นห่วง
หากตกอยู่ภายใต้ความต้องการของกลุ่มอันธพาล