อดเปรี้ยว ไว้กินหวานแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

เมื่อวานนี้ ราคาหุ้น บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK เปิดตัวกระโดดตั้งแต่เปิดตลาดวิ่งไปถึงราคาสูงสุดที่ 1.82 บาท ก่อนที่จะมีแรงขายออกมาในภาคบ่าย ลงเอยด้วยการปิดที่ระดับ 1.78 บาท ลดลงไปแค่ 0.02 บาท


เมื่อวานนี้ ราคาหุ้น บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป  จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK เปิดตัวกระโดดตั้งแต่เปิดตลาดวิ่งไปถึงราคาสูงสุดที่ 1.82 บาท ก่อนที่จะมีแรงขายออกมาในภาคบ่าย ลงเอยด้วยการปิดที่ระดับ 1.78 บาท ลดลงไปแค่ 0.02 บาท

ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นหลังจากก่อนเปิดตลาดเช้าวานนี้  LHBANK ได้แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัติให้บริษัทเข้าลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้น กับ CTBC Bank  ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มคูของไต้หวัน ในการหาพันธมิตรร่วมทุนเพื่อขยายธุรกิจของธนาคารเอง

การดำเนินการดังกล่าว คือการบอกให้ทราบว่า ดีลซื้อขายกิจการบางส่วนของ LHBANK  โดยการดำเนินการของ 2 กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ LHBANK อย่างบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)หรือ LH และ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH  ตามที่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคมไปแล้ว

ดีลที่เกิดขึ้นในการลงนามในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาจองซื้อหุ้น LHBANK  โดย CTBC ตกลงจะดำเนินการเพื่อให้การซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ LHBANK บรรลุ รวมถึงการตรวจสอบสถานะของกิจการ ซึ่งกินเวลานาน 2 เดือนเศษ

ผลลัพธ์ท้ายสุดคือ LHBANK จะออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 7.54 พันล้านหุ้น ขายต่อ CTBC ซึ่งเป็นการเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ในราคา 2.20 บาท/หุ้น โดยที่จะต้องขออนุญาตต่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอผ่อนผันไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด

ดีลที่กำลังจะจบลงอย่างเป็นทางการ ทำให้จากนี้ไป ไม่ต้องถกเถียงกันอีกแล้วว่า ดีลซื้อขายหุ้นของ LHBANK เป็นดีลจริง หรือแค่สร้างราคาเรียกแขกเท่านั้น

เรื่องของการที่จะมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จากต่างชาติ เข้ามาเจรจาเทกโอเวอร์กิจการของกลุ่มการเงินและธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่สุดของประเทศไทย  LHBANK ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมปะนีทางการเงิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ และทุกครั้งที่เกิดข่าว ก็จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น LHBANK ทุกครั้ง จากหุ้นที่ไม่มีใครสนใจ กลายเป็นหุ้นร้อนแรงในรอบสัปดาห์นั้นๆ และวิ่งขึ้นทุกเช้าด้วยมูลค่าซื้อขายโดดเด่น ก่อนที่จะเงียบหายไปที่ราคาเดิมก่อนเป็นข่าว

ที่ผ่านมา กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ไม่เคยอ้อมค้อม ให้ข่าวเสมอมาว่า ต้องการหาพันธมิตรร่วมทุนที่เข้ามาทำให้ธนาคารเติบโตแข็งแรงมากขึ้นในระยะยาว ..แต่ต้องซื้อในราคาที่เหมาะสม

เหตุผลนั้นเข้าใจได้ เพราะหากจะดูฐานเงินกองทุนขั้นที่ 1 หรือ ส่วนผู้ถือหุ้นของ LHBANK ในงบการเงินล่าสุด 2558 จะเห็นว่า ส่วนผู้ถือหุ้นล่าสุดเพียงแค่ 1.7 หมื่นล้าน น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจะแข่งขันกับรายอื่นๆ ทำให้แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีอัตรากำไรสุทธิที่ระดับเกิน 15% และเติบโตเกินกว่าปีละ 20% ทุกปีไม่มีว่างเว้น ก็ยังไม่สามารถใหญ่โตและแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในวงการเงินและธนาคารได้เลย

แถมยังทำให้ราคาหุ้นของ LHBANK ที่เทรดในตลาด พร้อมจะลงมากกว่าขึ้นมายาวนาน

กลายเป็นบริษัทดี หุ้นเลว อย่างช่วยไม่ได้

เพื่อหยุดยั้งปรากฏการณ์ “บอนไซตัวเอง” ผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการของ LHBANK จึงต้องเร่งโตทางลัดเพื่อสร้าง inorganic growth เพราะหากขืนจะโตด้วย organic growth เหมือนเดิม ก็คงอาจจะมีปัญหาเดียวกับ “อึ่งอ่างในรอยเท้าโค” เหมือนนิทานอีสป

หลังจากที่ผ่านการเจรจาหาพันธมิตรมาหลายครั้ง และล้มเหลวมานาน…เพราะคนซื้ออยากได้ราคาต่ำ แต่คนขายอยากได้ราคาสูง…ในที่สุดก็สมใจอยากเสียที เมื่อ กลุ่มการเงินใหญ่อย่าง Koo Group จากไต้หวัน ตัดสินใจเข้ามาร่วมหอลงโรงด้วยในฐานะพันธมิตรสร้างพลังผนึกธุรกิจ

กลุ่ม Koo Group เป็นกลุ่มการเงินที่ใหญ่สุดในไต้หวัน มีธุรกิจหลัก 2 ปีก ปีกแรกคือ KGI ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน มีธุรกิจ non-bank ที่ใหญ่โต แล้วก็รุกเข้ามาอยู่ในเมืองไทยนานกว่า 15 ปี หลังวิกฤติต้มยำกุ้งโดยเข้าถือหุ้นใหญ่ใน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI นั่นเอง

อีกปีกหนึ่งคือ CTBC Financial Holding กลุ่มการเงินขนาดใหญ่จากไต้หวันมีสินทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 1 หรือ 1.09 แสนดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท ที่มีแกนหลักคือ ธนาคาร CTBC ที่เป็นธนาคารอันดับ 4 ของไต้หวัน แต่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งธนาคารนี้แหละที่ได้เข้ามาซื้อหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงของ LHBANK

กระบวนการซื้อขายหุ้นซึ่งคาดว่าจะสมบูรณ์ในไตรมาส 3 ปีนี้ เริ่มต้นที่ LHBANK ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายแบบพีพีให้แก่ CTBC Bank ในราคาหุ้นละ 2.20 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,599 ล้านบาท ทำให้ไต้หวันเข้ามามีสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 35.6%

การเข้าถือหุ้นของทุนไต้หวัน ทำให้ สัดส่วนการถือครองหุ้นของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (ประกอบด้วย LH และ QH) ลดลงอย่างชัดเจน เหลือเพียงรวมกันประมาณ 40% เศษเท่านั้น

ที่น่าสนใอย่างมากที่สุดคือ ดีลที่เกิดข้น กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ไม่ขายหุ้นบางส่วนของตนเองออกมาเพื่อทำกำไรพิเศษเฉพาะหน้า แม้แต่หุ้นเดียว ถือเป็นการ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ที่เสียสละยิ่งใหญ่อย่างมาก

ไม่ใช่คนที่มุ่งมั่นกับแนวคิดของตนเองจริงจังแล้ว ….ทำไม่ได้แน่นอน

เพราะที่ผ่านมา นักลงทุนมักจะได้เห็นปรากฏการณ์หาเศษหาเลยกับ “ดอกไม้ริมทาง” เสมอมา

อิ อิ อิ

.

Back to top button