เมฆดำครอบงำอาเบะโนมิกส์

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำที่สดในเอเชียในครึ่งแรกของปี 2559 นี้ ไม่มีข้อถกเถียงใด เพราะดัชนีนิกเกอิที่ร่อแร่ระดับ 16,000 จุดเล็กน้อยวานนี้ บอกชัดเสียจนไม่ต้องบรรยายเพิ่มเติม


วิษณุ โชลิตกุล

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำที่สดในเอเชียในครึ่งแรกของปี 2559 นี้  ไม่มีข้อถกเถียงใด เพราะดัชนีนิกเกอิที่ร่อแร่ระดับ 16,000 จุดเล็กน้อยวานนี้ บอกชัดเสียจนไม่ต้องบรรยายเพิ่มเติม

ล่าสุดวานนี้ มีข่าวร้ายเพิ่มขึ้นอีก 3 ข่าวที่ซ้ำเติมให้ดัชนีนิกเกอิ มีโอกาสทรุดต่อลงไปอีกต่อเนื่อง ประกอบด้วย

–        ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นจาก “มีเสถียรภาพ” สู่ “เชิงลบ” โดยระบุถึงการขาดกระบวนการที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปด้านการคลัง หลังการประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีการบริโภคจาก 8% สู่ 10% ในประเทศ สะท้อนความเชื่อมั่นของทางบริษัทที่ลดลงต่อความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นในการปฏิรูปด้านการคลังเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ

–        อัตราผลตอบแทน (บอนด์ยีลด์) ของรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์วานนี้ที่ -0.165% สวนทางกับราคาพันธบัตร (ส่งมอบเดือนกันยายน) ที่เพิ่มขึ้น 0.05 จุด เนื่องจากนักลงทุนแห่เข้าซื้อพันธบัตรจากความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อังกฤษอาจจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในการทำประชามติสัปดาห์หน้า  และ การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่อาจจะขยายขอบเขตมาตรการกระตุ้นทางการเงินในการประชุมนโยบายในสัปดาห์นี้ 

–        กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นลดลงอย่างมากในระหว่างเดือนเมษายนพฤษภาคม  เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวเมืองคุมาโมโตะ และการแข็งค่าของเงินเยน

ตัวแปรทางลบที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากแรงกดดันของเฟดฯ และค่าเงินที่จะผันผวนต่อไปอีกนานพอสมควรในครึ่งหลังของปีนี้ รวมทั้งความผันผวนของราคาพลังงาน และตลาดส่งออกไปยังชาติคู่ค้า นอกเหนือจากปัญหาสังคมว่าด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่นับวันจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ตอกย้ำว่า เส้นทางอันขรุขระของรัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันที่พยายามขับเคลื่อนด้วย “อาเบะโนมิกส์” เป็นมากกว่าแค่ปัจจัยเฉพาะหน้าของภาวะถดถอยจากภาวะเงินฝืดที่ต่อเนื่องธรรมดา หากนับวันที่จะถอยหลังกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในอีกไม่นาน หลังจาก 3 ปีผ่านไป พร้อมกับความง่อนแง่นทางการเมืองของรัฐบาลชินโซ อาเบะ เมื่อ 3 ปีก่อนรัฐบาลอาเบะได้ประดิษฐ์นโยบายเศรษฐกิจ ที่มีธงนำเรียกว่าลูกศร 3 ดอกเพื่อดึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญภาวะเงินฝืดเรื้อรังนานกว่า 2 ทศวรรษ ให้พ้นจากสภาพดังกล่าว

เริ่มต้นด้วย มาตรการทางการเงินในฐานะ “ลูกศรดอกแรก” ในปลายปี 2556 ประกอบด้วย มาตรการ QE หรือผ่อนคลายการทางเงินเชิงรุก มาใช้ โดยให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกพันธบัตรมหาศาลทุกเดือนเพื่อซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงิน หรือ ตราสารหนี้เอกชนรวมถึงพวกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น กองทุนรวมประเภท ETF และกองทรัสต์เพื่ออสังหาริมทรัพย์ (REITs) และพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ให้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ภายใน 3 ปีและ ยุติปัญหาดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคตกต่ำมาราธอน ถือเป็นปฏิบัติการ “กามิกาเซ่ทางการเงิน”

ตามมาด้วย มาตรการทางการคลังขาดดุลงบประมาณสร้างงานสาธารณะ (รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปีพ.ศ.2563) ในฐานะ “ลูกศรดอกที่สอง” โดย ตั้งเป้าหมายขึ้นภาษีบริโภคหรือ sales tax จากเดิม 8% เป็น 10% เมื่อเดือนเมษายน 2557 (พร้อมหวังจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 12.5% และเพิ่มเป็น 15%..ในที่สุด) มาชดเชยการขาดดุลเพราะเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาล ญี่ปุ่นสูงมากถึง 230% ของจีดีพี แต่ผลพวงของการขึ้นภาษี ทำให้ทุกอย่างเสียหายเกินคาด ต้องเลื่อนการขึ้นมาจนถึงต้นปีหน้า (แล้วก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะถูกเลื่อนออกไปอีก)

ท้ายสุดของมาตรการคือ การมุ่งกระจายความมั่งคั่งทั่วประเทศผ่านกระบวนการกระจายการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ให้อำนาจตัดสินใจนโยบายส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น ในฐานะ“ลูกศรดอกที่สาม”

จากจุดเริ่มต้นความลังเลในการขึ้นภาษีเพิ่ม ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ทำให้เป็นผลต่อเนื่องถึงความล้มเหลวที่ส่งผลทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องหวนกลับมาใช้มาตรการการเงินด้วย “ยาแรง” มากขึ้น ถึงขั้นอัตราดอกเบี้ยติดลบตามรอยยูโรโซน

การลดดอกเบี้ยถึงขั้นติกลบเพื่อดึงเงินเยนให้ถูกลง นอกจากไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง แต่กลับแข็งค่ามากขึ้นในรอบ 2 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรมองว่าดอกเบี้ยติดลบทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นร่วงลงแต่ดันราคาพันธบัตรให้สูงขึ้นสวนทางกัน จึงพากันแห่เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น กดดันให้ดอกเบี้ยลดลงไปอีก

วังวนของการแก้ปัญหาแบบ “พายเรือในอ่าง” ของอาเบะโนมิกส์ ที่หาทางออกใหม่ไม่เจอยามนี้ สะท้อนออกมาในราคาหุ้นและทิศทางของดัชนีนิกเกอิ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นญีปุ่นหมดเสน่ห์ลงไปอย่างรุนแรงในสายตาของกองทุนระหว่างระเทศ

ความล้มเหลวของอาเบะโนมิกส์ ไม่เพียงแต่ทำให้รัฐบาลอาเบะสั่นคลอนเท่านั้น หากยังทำให้คำถามว่า โมเดลบริหารจัดการเศรษฐกิจญี่ปุ่น(รัฐและกลุ่มทุนใหญ่ จับมือสร้างฉันทามติร่วมในแต่ละช่วงของนโยบายเศรษฐกิจ) ยังคงใช้การได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่

ความท้าทายดังกล่าวเป็นเมฆดำอันตรายแห่งทศวรรษ ที่ยังไม่มีคำตอบสำหรับก้าวข้ามไปแต่อย่างใด

Back to top button