จูดาสของยุโรป?พลวัต 2016
ยิ่งใกล้วันลงประชามติของอังกฤษ 23 มิถุนายนว่าจะถอนตัวจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปหรือไม่ ความระทึกขวัญของตลาดเก็งกำไรทั่วโลกยิ่งเขม็งเกลียวมากเพียงนั้น ถึงขั้นทำให้การขึ้นหรือคงดอกเบี้ยของเฟดฯ ถูกมองข้ามไปชั่วคราว
วิษณุ โชลิตกุล
ยิ่งใกล้วันลงประชามติของอังกฤษ 23 มิถุนายนว่าจะถอนตัวจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปหรือไม่ ความระทึกขวัญของตลาดเก็งกำไรทั่วโลกยิ่งเขม็งเกลียวมากเพียงนั้น ถึงขั้นทำให้การขึ้นหรือคงดอกเบี้ยของเฟดฯ ถูกมองข้ามไปชั่วคราว
ยิ่งมีข่าวกระตุ้นกระแสทั้งดีและร้ายของการอยู่และออก ความมั่นใจที่ว่าฝ่ายที่อยากให้อยู่ต่อจะชนะลอยลำ ยิ่งลดลงมากเพียงนั้น
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดตราสารหนี้ ถูกผลกระทบรุนแรงไม่เฉพาะในอังกฤษหรือสหภาพยุโรป แต่ทั่วโลกด้วย
ประชามติของอังกฤษ มีชื่อเรียกย่อๆว่า Brexit แต่ชื่อเรียกจริงคือ The United Kingdom European Union membership referendumซึ่งเป็น “พิธีการ” ของสนธิสัญญาแห่งลิสบอน (The Treaty of Lisbon) ปี ค.ศ. 2009 ที่เปิดช่องให้ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปที่ต้องการถอนตัวออกโดยสมัครใจ กระทำได้
แรงกดดันให้อังกฤษลงประชามติเกิดมานานหลายปี จนกระทั่งนายเดวิด คาเมรอน ประกาศตัดสินใจให้มีการลงประชามติเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อต้นปีนี้
พลเมืองและกลุ่มการเมืองอังกฤษ มีเสียงแตกมาตั้งแต่ที่เข้ามีส่วนร่วมเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ในปี ค.ศ.1975 ซึ่งก็มีการลงประชามติที่มีคนคัดค้านมากพอสมควร และต่อมาก็ยังมีแรงกดดันให้ดำรงฐานะพิเศษของสหภาพยุโรปภายใต้สนธิสัญญามาสตริชท์ ค.ศ. 1992 และสนธิสัญญาลิสบอน มาถึงปัจจุบัน คือเป็นสมาชิกสหภาพทางการเมืองและสังคมไม่เต็มตัว (ไม่มีการออกวีซ่าร่วม “เชงเก้น”) และมีสภาพครึ่งๆ กลางๆ ด้านเศรษฐกิจ เพราะยังไม่ยอมใช้เงินยูโร แบบเดียวกับสหภาพอีก 27 ประเทศ
อังกฤษไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะแข่งขันกับชาติอื่นใดในโลกได้แข็งแกร่งเท่ากับธุรกิจการเงิน เพราะคนอังกฤษกว่า 75% อยู่ในธุรกิจดังกล่าว จึงไม่พึงพอใจกับการที่ธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BOE ต้องอยู่ใต้บงการของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ถึงขั้นทำผิดหลักอธิปไตยของประเทศ เพราะผู้บริหารของ ECB นั้น ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากการสรรหาทางอ้อมผ่านรัฐสภายุโรป ซึ่งเท่ากับอังกฤษสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจให้กับเทคโนแครตที่ไม่ได้มาจากประชาชน
ข้ออ้างดังกล่าว เป็นการอำพรางเจตนาว่า อังกฤษไม่ต้องการให้ BOE ถูกครอบงำโดยธนาคารกลางของเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) และไม่ต้องการให้ศูนย์การเงินของยุโรปในลอนดอน ถูกย้ายไปที่ฟรังก์เฟิร์ต
เสียงเรียกร้องจากกลุ่มพลังและนักการเมืองฝ่ายค้าน ให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปดังขึ้นเป็นระยะๆ โดยยอมที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็น จูดาสของยุโรป
คำกล่าวหาดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะการสถาปนาสหภาพยุโรปนั้น ใช้เวลายาวนานนับแต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดยปัญญาชนอิตาเลียน 2 คน อาเทียโร่ สปิเนลลี และ เออร์เนสโต้ รอสซี่ ซึ่งพบกันในที่คุมขังของฟัสซิสท์ที่เกาะเวนโตเตเน่ ชายฝั่งอิตาลีตอนกลาง ได้หารือกันเพื่อหาทางออกจากต้นเหตุของสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า จนสรุปว่า ปัญหาเกิดจากรากฐาน 2 อย่างคือ พลังคิดชาตินิยมคับแคบ และ อุดมการณ์ทางการเมืองของขั้วที่แตกต่างกัน
คำตอบที่ถูกถอดรหัสว่า ต้องสร้างยุโรปใหม่ที่ “ข้ามรัฐ” และ “ข้ามอุดมการณ์” เพื่อก่อรูปเป็นสหพันธรัฐ หรือสหภาพ ซึ่งทุกชาติถูกผูกพันด้วยข้อกำหนดที่เชื่อมโยงกัน คำประกาศ เวนโตเตเน่ หรือ Ventotene Manifesto จึงเกิดขึ้นมา
หลังสงคราม สปิเนลลี ประสานงานกับปัญญาชนทั่วยุโรปร้อยกว่าคน เพื่อมาระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตยุโรป โดยไม่ต้องหวังพึ่งพาสหรัฐฯหรือโซเวียต จนจับกลุ่มเป็นจริงจังที่ภัตตาคาร “คลับจระเข้” (Au Crocodile) ในเมืองสตราส์บรูก ของฝรั่งเศส
กลุ่มปัญญาชน คลับจระเข้ ร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ของยุโรปแบบ “เหนือชาติ” (supranational trait) จนกลายมาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ดังนั้น การถอนตัวจากสหภาพยุโรป ทำให้อังกฤษจะถูกตราหน้าในประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนทำลายรากเหง้าของ คำประกาศ เวนโตเตเน่
อังกฤษอาจมีข้ออ้างว่า ก่อนหน้านี้ ความสำเร็จของกรีนแลนด์ และอีกบางประเทศเล็กๆ ที่สามารถไปได้สวยหลังจากถอนตัวจากอำนาจของ ECB ไม่ต้อง “กินน้ำใต้ศอก” อีกต่อไป แต่ในกรณีของความเสื่อมทรุดของสหภาพยุโรปหลังถอนตัว อังกฤษก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ ได้
จุดเด่นและจุดด้อยของการถอนตัวและการยังคงสมาชิกภาพในสหภาพยุโรป ถูกนำมาตีแผ่จากทั้ง 2 ฝ่าย โดยนายคาเมรอนระบุว่า การออกจากสหภาพยุโรป จะทำให้อังกฤษเผชิญภาวะไม่แน่นอน นานถึง 10 ปี ขณะที่จะต้องทำการเจรจาข้อตกลงทวิภาคีทางการค้าใหม่กับอีก 27 ประเทศใน EU ซึ่งมีสัดส่วนการค้าของอังกฤษมากกว่า 40% โดยที่ข้อตกลงนั้นได้เคยใช้เวลามานาน 7 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ฝ่ายที่สนับสนุนให้ถอนตัวก็ตอบโต้ว่า กลัวเกินจริง เพราะอังกฤษสามารถทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ได้โดยใช้เวลาไม่มาก ผ่านรูปแบบของการทำข้อตกลงระหว่างแคนาดา-สหภาพยุโรป เป็นต้นแบบ
นักเศรษฐศาสตร์ที่แนะให้ถอนตัว ระบุว่า เศรษฐกิจของอังกฤษในช่วง 10 ปี หลังออกจากอียู จะมีขนาดใหญ่ขึ้น 4% เทียบกับที่ยังอยู่ในสหภาพยุโรป และอัตราภาษีที่นำเข้าจากนอกสหภาพที่ลดลง โดยดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง 8% แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ การลงทุนจากต่างประเทศจะถูกดึงดูดเข้ามาในอังกฤษมากขึ้น แต่มุมมอง “โลกสวย” ดังกล่าวก็ไม่ได้ตอบคำถามว่า ผลตอบแทนระยะยาวที่ไม่มากนัก จะคุ้มค่ากับความเสียหายระยะสั้นจากความผันผวนของตลาดทุนและตลาดเงิน และความเสียหายจากการสูญเสียตลาดในสหภาพยุโรป
หากผลประชามติออกมาว่า ฝ่ายต้องการถอนตัวได้รับชัยชนะ สนธิสัญญาแห่งลิสบอน ก็มีข้อความเปิดช่องภายใต้เงื่อนไขว่า การสิ้นสุดสมาชิกภาพจะใช้เวลา 2 ปี เพื่อยืดระยะเวลาให้แต่ละฝ่ายได้วางแผนปรับตัว และเจรจาต่อรองข้อตกลงใหม่
แม้การถอนตัวจะยังสามารถซื้อเวลาได้ระดับหนึ่งนาน 2 ปี แต่คำถามสำคัญ 2 ยังจะตามมาหลอกหลอน คือ 1) อังกฤษจะอยู่โดยไม่มีสหภาพยุโรปได้หรือไม่ และอย่างไร 2) สหภาพยุโรปที่ไม่มีอังกฤษจะอยู่กันอย่างไร
ไม่มีใครคาดเดาคำตอบของคำถามทั้ง 2 ข้อได้เลย