จับตาเปลี่ยน CEO แบงก์ลูบคมตลาดทุน

ก่อนสิ้นปี 2559 จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงในวงการธนาคารพาณิชย์ของไทย 3-4 แห่ง


ธนะชัย ณ นคร

 

ก่อนสิ้นปี 2559 จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงในวงการธนาคารพาณิชย์ของไทย 3-4 แห่ง

เป็นการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการหมดวาระครับ

แห่งแรก คือ ธนาคารทหารไทย จำกัด หรือ TMB ที่คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมดวาระลงในเดือนกรกฎาคมนี้

คุณบุญทักษ์ อยู่ในตำแหน่งมาแล้ว 2 วาระ วาระละ 4 ปี รวมเบ็ดเสร็จก็ 8 ปี

เท่าที่ทราบกระบวนการสรรหาได้เริ่มมาแล้วตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 59

และน่าจะมีการประกาศบุคคลเข้ารับตำแหน่งคนใหม่หลังจากไตรมาส 2/59 ซึ่งผ่านมาจนถึงป่านนี้ ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ส่วนชื่อที่มีการระบุกันออกมาก่อนหน้านี้ เป็นเพียงคาดการณ์

มีประเด็นน่าสนใจสำหรับทีเอ็มบี

เพราะนักลงทุนต่างเฝ้าจับตาดูว่า ใครเล่าจะเข้ามาแทนที่คุณบุญทักษ์

รูปแบบ และสไตล์การทำงาน จะเหมือนกันหรือไม่

คุณบุญทักษ์นั้น จะบริหารธนาคารในรูปแบบตั้งการ์ดให้แน่น นั่นคือ ให้ความสำคัญกับเงินกองทุนต้องเข้มแข็ง ดั่งจะเห็นได้จาก Coverage Ratio ที่อยู่สูงกว่า 140% เป็นอันดับ 3 รองจากแบงก์กรุงเทพ และแบงก์กรุงศรีฯ

ทว่า ในมุมมองของนักวิเคราะห์ มีความเห็นเป็นเชิงบวก

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มองว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาแทนที่คุณบุญทักษ์ ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อผลประกอบการ หรือ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนในทีเอ็มบีอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นเพราะพื้นฐานของแบงก์ได้วางไว้อย่างแข็งแกร่งแล้ว

และเข้าใจว่า บุคคลที่จะเข้ามารับไม้ต่อนั้น ทางกลุ่มไอเอ็นจี และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทีเอ็มบี ก็น่าจะคัดกรองมาอย่างดี

หรือบางทีคุณบุญทักษ์ อาจจะมีส่วนในการตัดสินใจด้วยก็ได้ เพราะว่านั่งในบอร์ดอยู่ด้วย

ซีอีโอแบงก์จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกแห่งคือ แบงก์กรุงไทย หรือ KTB

คุณวรภัค ธันยาวงษ์ จะหมดวาระลงในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังนั่งในตำแหน่งนี้มาแล้ว 1 สมัย หรือ 4 ปี

เข้าใจว่า กระบวนการสรรหาซีอีโอ หรือ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ KTB น่าจะเริ่มได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ หรือก่อนที่คุณวรภัค จะหมดวาระ 3 เดือน

ที่จริงแล้ว คุณวรภัค สามารถทำงานต่อได้อีก 1 สมัย

แต่อย่างว่าล่ะ บอสใหญ่ของแบงก์กรุงไทย กระบวนการสรรหานั้น อาจต่างกับธนาคารพาณิชย์ทั่วๆ ไปเพราะจะต้องไปถามที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

หรือต้องถามรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะรองนายกฯ ที่คุมเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ก็คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

หากรัฐบาล และคลังที่มีคุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็น รมว.คลัง โอเคกับคุณวรภัค

กระบวนการสรรหาก็ไม่ไม่มีอะไรมาก อาจเพียงแค่เสนอบอร์ด และคุยกับคุณวรภัค หลังจากนั้น ก็ทำสัญญา เพื่อให้บริหารงานต่ออีก 1 สมัย

งานนี้ต้องวัดใจทั้งดร.สมคิด และคุณอภิศักดิ์ กันล่ะ

ธนาคารอีกแห่งคือ แบงก์ไทยพาณิชย์ หรือ SCB

หลังการหมดวาระของคุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ทาง SCB ก็แต่งตั้งผู้บริหารขึ้นมาแทน คือคุณญนน์ โภคทรัพย์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

และคุณอาทิตย์ นันทวิทยา เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่

แต่เมื่อคุณญนน์ ลาออก และมีผลวันที่ 1 ก.ค. 59 ก็เลยมีการจับตาว่า แล้วใครล่ะที่จะเข้ามาแทนคุณญนน์

คนใน (แบงก์) หรือคนนอก (แบงก์) ข้ามห้วยมา

ส่วนประเด็นที่น่าสนใจคือ บุคคลที่จะเข้ามาแทนที่นั้น จะต้องมีความสามารถด้านคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์อย่างดีมาก โดยเฉพาะงานลูกค้าทางด้านรีเทล หรือรายย่อย

แบงก์อีกแห่งคือ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ดร.สุภัค ศิวะรักษ์ จะหมดวาระในปี 2559 นี้

แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่ม CIMB ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จะต่อวาระให้กับดร.สุภัค เพราะผลงานที่ผ่านมาถือว่าดี หรืออาจจะดีกว่าที่คาดไว้อีก

นอกจากเรื่องผลประกอบการแบงก์ในปีนี้แล้ว

ก็ยังต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงในระดับ ซีอีโอ ควบคู่ไปด้วย

Back to top button