หมาบ้า และคนอังกฤษพลวัต 2016
วันนี้จะเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งกับชะตากรรมและประวัติศาสตร์อีกครั้งของประเทศและคนอังกฤษ เพราะการลงประชามติว่าจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาลิสบอน จะมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนเกิดขึ้น
วิษณุ โชลิตกุล
วันนี้จะเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งกับชะตากรรมและประวัติศาสตร์อีกครั้งของประเทศและคนอังกฤษ เพราะการลงประชามติว่าจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาลิสบอน จะมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนเกิดขึ้น
ผลสะเทือนของการดำรงอยู่ในฐานะสมาชิกภาพ “ที่มีเงื่อนไขพิเศษ” และ การถอนตัวออกจากสมาชิกภาพ มีความหมายแตกต่างกันสุดขั้ว ซึ่งตลาดเก็งกำไรพากันหวั่นไหวอย่างรุนแรงไม่ต้องสงสัย
ดังที่ทราบกันดี ประเทศอังกฤษ ไม่มีพรมแดนติดต่อกับยุโรปอื่นๆ (นอกจากเครือจักรภพด้วยกันเอง) ดังนั้น ความผูกพันในฐานะชาติใกล้ชิดย่อมแตกต่างไปจากชาติยุโรปอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ด้านความสัมพันธ์ทางชายแดนกายภาพที่ติดต่อกันเป็นธรรมดา
แม้ว่าที่ผ่านมา อังกฤษจะมีอิสระมากกว่าชาติสมาชิกสหภาพยุโรปรายอื่นๆ เพราะ ยังมีเงื่อนที่สามารถดำเนินการเป็นอิสระได้ในระดับหนึ่งนอกเหนือจากข้อบังคับของรัฐสภายุโรป แต่ความคาดหวังทางทฤษฎีหรือจินตนาการจากการเข้าเป็นสมาชิกภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงโดยพฤตินัย ทำให้แรงสะสมของความไม่พอใจของคนอังกฤษกลุ่มต่างๆ เพิ่มพูนขึ้น
ตัวอย่างเช่นตัวเลขการส่งออกของอังกฤษไปยังชาติสมาชิกสหภาพยุโรปในรอบ 30 ปีมานี้ ไม่เคยเกิน 5% ของยอดส่งออกอังกฤษทั้งหมดในแต่ละปี และความพยายามที่จะสร้างเขตการค้าเสรีสหภาพยุโรป–จีนที่ดำเนินการมาหลายปีแล้วไม่คืบหน้าเลย ทำให้โอกาสที่อังกฤษจะอาศัยช่องทางของข้อตกลงสหภาพยุโรป-จีนขยายตลาดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวก็หมดไปด้วย ในขณะที่ประเทศยุโรปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป อย่างไอซ์แลนด์ หรือ สวิตเเซอร์แลนด์ กลับสามารถทำข้อตกลงขยายโอกาสทางการค้ากับจีนได้เรียบร้อยแล้ว
ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษพยายามต่อรองเงื่อนไขเพื่อจะมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมให้มีอิสระมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ ซึ่งทำให้แนวโน้มของความไม่พอใจกับท่าทีของสหภาพของยุโรปถูกโหมกระพือมากขึ้น และสั่งสมจนเป็นที่มาของแรงกดดันให้ความต้องการถอนตัวมีเสียงดังมากยิ่งขึ้น จากการโหมประโคมความเชื่อว่า ชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของโลก ไม่จำต้องงอนง้อตลาดสหภาพยุโรป
ที่ร้ายไปกว่านั้น ภาระจากการที่ต้องร่วมลงขันในงบประมาณประจำปีของสหภาพยุโรป ที่อังกฤษแบกอยู่ค่อนข้างมากในฐานะที่มีสัดส่วนเป็นชาติมีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส ทำให้คนอังกฤษตั้งคำถามว่าจะต้องแบกรับภาระจากความเหลื่อมล้ำในภาระของชาติที่ยากจนกว่าของสหภาพยุโรปต่อไปดีหรือไม่
ข้อเท็จจริงอันเหลื่อมล้ำระหว่างชาติสมาชิกที่ร่ำรวยกับยากจนของสหภาพยุโรป สะท้อนให้เห็นสภาพ “เตี้ยอุ้มค่อม” ของสหภาพยุโรปที่ยังแก้ไม่ตก แต่เงื่อนไขของสหภาพยุโรปที่มีแกนกลางของกระบวนทัศน์ที่ว่า “ทุนเคลื่อนไหวเสรี สินค้าเคลื่อนไหวเสรี และแรงงานเคลื่อนไหวเสรี” ให้ให้เกิดปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้นมายามที่เศรษฐกิจถดถอยลง เพราะการว่างงานและถูกแย่งงานจากแรงงานนำเข้าทำให้คนอังกฤษจำนวนมากขึ้นตั้งคำถามว่าเจตนารมณ์ทางการเมืองของสหภาพยุโรปในการรักษาเอกภาพทางการเมืองนั้น ไม่ได้ช่วยใหญ่ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่กลับเลวร้ายลง
ความรู้สึกและเหตุผลดั้งเดิมของอังกฤษที่เคยเชื่อว่าจะสามารถต่อรองเงื่อนไขกับสมาชิกอื่นของสหภาพยุโรป จึงบานปลายและเบี่ยงเบนเป็นความต้องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
ท่าทีของคนอังกฤษที่ถอนตัวจากสหภาพยุโรปนั้น ทำให้หลายคนหวนรำลึกไปถึงเพลงเก่าแก่ของ เซอร์ โนเอล โควาร์ด หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ชื่อ “Mad Dog and Englishmen” ที่เสียดสีพฤติกรรมของคนอังกฤษที่เที่ยวไปมีอาณานิคมทั่วโลก
สาระของเพลงดังกล่าว วนเวียนกับการตั้งคำถามว่า ทำไมจึงมีแต่คนอังกฤษ และหมาบ้าเท่านั้นที่เที่ยวตะลอนฝ่าความยากลำบากไปผจญภัย (โดยมีบางท่อนเอ่ยชื่อกรุงเทพฯอยู่ด้วย) เพื่อครองโลก ในขณะที่ชาติอื่นๆ ไม่ยอมหรือไม่สามารถกระทำได้
“…Mad Dogs and Englishmen go out in the midday sun.
The toughest Burmese bandit can never understand it.
In Rangoon the heat of noon is just what the natives shun.
They put their scotch or rye down, and lie down.
In the jungle town where the sun beats down,
to the rage of man or beast,
The English garb of the English sahib merely gets a bit more creased.
In Bangkok, at twelve o’clock, they foam at the mouth and run,
But mad dogs and Englishmen go out in the midday sun….”
พรุ่งนี้ เราและคนทั่วโลกอาจจะได้เห็น และมีมุมมองเกี่ยวกับคนอังกฤษและหมาบ้าที่เหมือนเดิม หรือต่างจากเดิม ไม่ว่าผลประชามติจะเป็นเช่นไร