งงกับการบริหารงานแบบนี้ขี่พายุ ทะลุฟ้า

ผมงงนะเนี่ย งงกับแผนดำริของรัฐมนตรีคมนาคม จะก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน สายกทม.-โคราช ในระยะทาง 3.5 ก.ม.ก่อนที่สถานีกลางดง อ.ปากช่อง


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ผมงงนะเนี่ย งงกับแผนดำริของรัฐมนตรีคมนาคม จะก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน สายกทม.-โคราช ในระยะทาง 3.5 ก.ม.ก่อนที่สถานีกลางดง อ.ปากช่อง

สร้างมันก่อน 3.5 ก.ม.ทั้งที่ยังไม่มีบทสรุปค่าก่อสร้างทั้งหมดจะเป็นเท่าไหร่นี่แหละ

จีนเสนอค่าก่อสร้างทั้งเส้นมา 1.89 แสนล้านบาท ส่วนไทยจะต่อรองให้ไม่เกินวงเงิน 1.80 แสนล้านบาท ห่างกันอยู่ 9 พันล้านบาท ไม่รู้จะไปตกลงกันได้ที่ตัวเลขไหนก็ยังไม่แน่นอน

ตามกำหนดจะลงมือก่อสร้างกันภายในก.ย.ศกนี้ บ่ง-แบบก่อสร้างอะไร ก็ยังไม่มีทั้งสิ้น คาดว่าจะใช้วิธีการที่เรียกว่า Design-Build คือออกแบบไป-สร้างไป

อีกทั้งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และผลกระทบด้านสุขภาพชุมชน HIA ก็ยังไม่มีการลงมือทำอะไรสักอย่าง

อย่างนี้ก็มีด้วยแฮะ! มีความจำเป็นอะไรเร่งด่วนอ้ะ ถึงกับจะต้องลงมือสร้างทางรถไฟเส้นสั้นจุ๊ดจู๋ไว้เป็นประกันหรือข้อผูกมัดอะไรไว้สักอย่าง

ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนอะไรในโครงการสักอย่างเดียว

ฝ่ายไทยกับจีนจะตกลงราคากันได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ MOU ที่ไทยกับจีนทำไว้ ก็มิได้มีสภาพบังคับเด็ดขาดว่าไทยจะต้องใช้เทคโนโลยีจีนเสมอไป วันข้างหน้ารัฐบาลอาจได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าจากประเทศอื่นก็ได้

และที่สำคัญ ถ้าเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลขึ้นมา รัฐบาลใหม่จะสานต่อรถไฟความเร็วสูงกลางดงหรือไม่

มันอาจจะมีชะตากรรมเหมือนเสาต่อม่อโด่เด่ของโฮปเวลล์ก็เป็นได้ ซึ่งก็คงเป็นตลกร้ายชวนสมเพชน่าดู

ถ้าจะต้องเป็นอนุสาวรีย์ร้าง ก็คงต้องเป็นอนุสาวรีย์ร้างที่มีราคาแพงมากนะ ค่าก่อสร้างตกก.ม.ละ 750 ล้านบาท ระยะทาง 3.5 ก.ม. คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็กว่า 2.6 พันล้านบาท

มันไม่แพงไปหน่อยหรือครับ คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมกับโครงการที่หลวมโพลกในรายละเอียดที่ชัดเจนเช่นนี้

เรื่องแปลกๆ อีกเรื่องหนึ่ง เห็นจะเป็นเรื่องดาวเทียมไทยคม ซึ่งจู่ๆ กระทรวงไอซีที ก็มีนโยบายจะให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 กลับไปอยู่ในระบบสัมปทานแบบเก่า

เจตนาโดยแน่ชัดก็คือ รัฐบาลต้องการจัดเก็บรายได้มากขึ้น จากค่าสัมปทานร้อยละ 20.5 ของรายได้

ปัญหาก็คือ ดาวเทียมไทยคม 1-6 อยู่ในระบบสัมปทาน แต่พอมีพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2553

ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ก็ต้องปรับเปลี่ยนโดยผลของกฎหมายมาดำเนินการในระบบใบอนุญาต

ทั้งนี้ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม ซึ่งยึดหลักการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และไทยก็เข้าร่วมเป็นภาคีสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU กับเขาด้วย

นี่จะแหกสัตยาบันไอทียู ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ และแหกกฎหมายไทย อันเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพียงเพื่อหิวกระหายในรายได้เข้ารัฐกระนั้นหรือ

ป่าเถื่อนไปมั้ง อารยชนเขาไม่ทำกัน

คุณประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นทหารมาโดยอาชีพ อาจจะไม่รู้เรื่องราวความเป็นมา รวมทั้งหลักคิดหลักการต่างๆ

คุณอุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที ท่านเป็นนักวิชาการที่น่าจะรู้และเข้าใจ แต่ก็นั่นแหละ ท่านอาจจะรอบรู้แบบ

กว้าง ความรอบรู้แบบเฉพาะทางอาจจะมีน้อย

ประกอบกับความจำเป็นที่จะต้องหารายได้เข้ารัฐ จึงกลายเป็นว่าเจ้ากระทรวงไอซีทีเสียเอง จะพากระทรวงถอยหลังเข้าคลอง

แต่ท่านเลขาฯฐากร ตัณฑสิทธิ์นี่สิ ปล่อยให้รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามโดยไม่หาทางยับยั้งได้อย่างไร

 

Back to top button