พาราสาวะถี อรชุน

ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้ว คิดอะไรไม่ออกบอกมาตรา 44 ล่าสุด วิษณุ เครืองาม ไปพูดบนเวทีร่างรัฐธรรมนูญประชามติและประชาชน ที่กกต.จัดที่หอประชุมเปรม ติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาว่า มาตรา 61 วรรคสองของกฎหมายประชามติที่ถูกผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นแค่เสี้ยวเดียวของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การทำประชามติยังเดินหน้าเหมือนเดิม


ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้ว คิดอะไรไม่ออกบอกมาตรา 44 ล่าสุด วิษณุ เครืองาม ไปพูดบนเวทีร่างรัฐธรรมนูญประชามติและประชาชน ที่กกต.จัดที่หอประชุมเปรม ติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาว่า มาตรา 61 วรรคสองของกฎหมายประชามติที่ถูกผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นแค่เสี้ยวเดียวของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การทำประชามติยังเดินหน้าเหมือนเดิม

แต่ก็ยังมีข้อกังวลกันต่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าคำเหล่านี้ใช้ไม่ได้ แล้วจะมีคนย่ามใจออกมาแสดงความคิดเห็นตามชอบใจ ซึ่งก็กลัวว่าจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ เพราะยังมีกฎหมายคสช.อีกเป็นกุรุดที่ควบคุมอยู่ หรือหากกฎหมายไม่พอก็ออกใหม่ได้ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกกฎหมายใหม่ได้ทุกวัน นั่นหมายความว่า ถ้าการตีความของศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาก็สามารถใช้มาตราวิเศษจัดการได้ทันที

นี่คงเป็นเหตุผลที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันมาโดยตลอดแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ ก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560 แน่นอน เพราะมีของดีอยู่กับตัวนี่เอง อย่างไรก็ตาม วิษณุก็อธิบายถึงทางออกต่อผลประชามติที่จะเกิดขึ้นไว้ 3 แนวทางอย่างน่าสนใจว่า กรณีร่างรัฐธรรมนูญแต่คำถามพ่วงไม่ผ่านก็เตรียมนับนิ้วหาเสียงเลือกตั้งได้

หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงผ่านจะใช้เวลาไม่กี่วันสำหรับแก้บางมาตราในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง จากนั้นก็จะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งได้เช่นกัน แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ทำใหม่แต่จะใช้เวลารวดเร็ว โดยจะไม่มีการลงประชามติอีก ซึ่งย้ำว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ร้อยเปอร์เซ็นต์

เป็นอันว่าใครที่กลัวผู้มีอำนาจจะเดินเกินกรอบเวลาตามโรดแมปน่าที่จะพอเบาใจได้ในระดับหนึ่ง แต่มันคงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะในความเป็นจริง หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คำถามที่จะตามมาคือจะต้องมีใครแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ สิ่งสำคัญคือผู้มีอำนาจจะเลือกใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหนมาปัดฝุ่นบังคับใช้เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง

หรือจะเป็นอย่างที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ขู่ไว้ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่คลอด หากไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้ฉบับที่โหดยิ่งกว่า ตรงนั้นก็จะเป็นเหตุและปัจจัยให้ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องออกมาเคลื่อนไหวอย่างช่วยไม่ได้ ในขณะที่ผู้มีอำนาจยังคงถือกฎหมายพิเศษอยู่ จึงเกรงกันว่ามันจะวุ่นวายมากกว่าสงบราบคาบเพื่อรอไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง

ถ้าเป็นเช่นนั้น ความเห็นของ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่พูดบนเวที 84 ปี 2475 อนาคตประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด สิ่งที่เราตอบไม่ได้คือ แล้วอนาคตไทยอยู่ในหนทางไหน เราเห็นเงื่อนไขการเปลี่ยนผ่านแบบการกดดันกันเองและการลุกฮือ แต่ยังไม่เคยเห็นการเจรจาสองฝ่าย

นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า เป็นไปได้ไหมหรือสังคมไทยแตกแยกเกินกว่าเจรจา แต่ถ้าการเปลี่ยนผ่านเกิด ไม่ว่าด้วยเงื่อนไขอะไร สิ่งที่จะถูกทิ้งไว้เป็นปัญหามีอยู่ 10 ประการ ซึ่งเราเห็นได้จากบทเรียนของละตินอเมริกาได้แก่ เราจะจัดการรัฐธรรมนูญในบ้านอย่างไร ฝ่ายอำนาจนิยมห่วงการสูญเสียอำนาจ ในวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยา มองว่า ฝ่ายนั้นกลัวการจัดสรรใหม่ พูดง่ายๆ เชื่อว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยเป็นกระบวนการจัดสรรใหม่เปิดพื้นที่ให้ชนชั้นล่างและชนชั้นอื่นเข้ามา

ถ้าจะให้รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขของการประนีประนอมทางการเมืองก็ต้องคิดใหม่ แต่ถ้ายังจะเป็นการผูกขาด คำตอบอยู่ในความขัดแย้งใหญ่ในอนาคต ต้องคุยเรื่องการกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขการปกครองในอนาคต ในละตินอเมริกาเขากลัวสงครามกลางเมือง ในการออกแบบเขาจึงคิดไปไกลเพื่อรองรับสถานการณ์สงคราม เขาคิดละเอียด แต่ต้องยอมรับว่าบ้านเราไม่ค่อยคุย

สิ่งสำคัญคือ อะไรคือภารกิจของทหารในรัฐธรรมนูญ จะเอาอย่างไรกับกฎหมายความมั่นคงและการรองรับสถานการณ์พิเศษ อำนาจและขอบเขตของกฎหมายทหาร เช่น ศาลทหาร จะออกแบบอย่างไร ในละตินอเมริกาออกแบบตัวนี้ชัด จัดการปัญหามรดกของระบอบเผด็จการจะทำอย่างไรกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาบทบาทของฝ่ายค้าน ขอบเขตอำนาจการสั่งการของผู้บังคับบัญชาทางทหารอยู่ในระดับใดที่ไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย การปรับบทบาทของกองทัพในสถานการณ์ความมั่นคงใหม่ เช่น การก่อการร้าย เรียกว่าต้องปฏิรูปงานความมั่นคง และการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลเป็นรูปธรรม

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เชื่อได้เลยว่า บรรดานักคิดของฝ่ายใกล้ชิดผู้มีอำนาจพิเศษไม่ได้คิดใกล้ถึงขนาดนั้น ขณะเดียวกันถ้าเราย้อนดูทั่วโลก การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไม่ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ล้วนอยู่ใน 3 เส้นทางสำคัญคือ การออกจากระบอบทหาร ซึ่งเงื่อนไขคือทหารยอมรับไหมว่าอยู่ภายใต้แรงกดดัน ถ้ายอมรับก็จะเกิด

ขณะที่ทหารปีกปฏิรูปเมื่อรู้ว่ากองทัพแบกการเมืองไม่ไหว ในปรากฏการณ์ทั่วโลกปีกนี้จะตัดสินใจกดดันให้ระบอบทหารที่เป็นรัฐบาลถอยออกจากการเมือง นี่คือเงื่อนไขของเหตุการณ์วันที่ 20 ตุลาคม 2520 เงื่อนไขนี้เกิดในละตินอเมริกา เป็นสิ่งที่เกิดในละตินอเมริกาแต่ไม่เกิดในไทย นั่นคือ มีการเจรจากันระหว่างปีกประชาธิปไตยกับทหาร แล้วตัดสินใจร่วมกัน สุดท้ายคือ การลุกฮือของประชาชน

ดังนั้น ความน่าสนใจในการสร้างกลไกการเปลี่ยนผ่านของไทยที่กำลังทำอยู่ วิธีการอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องใหม่มีอย่างเดียวคือ ในการเปลี่ยนผ่านหลายรอบ ชนชั้นกลางไม่เอาทหาร ทำไมรอบนี้เอาทหาร หรือชนชั้นกลางไทยเป็นตัวอย่างของอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่พอเปลี่ยนผ่านเสร็จก็เริ่มกลัวรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

สุดท้ายก็ไปอุ้มรัฐบาลทหารกลับสู่อำนาจใหม่อย่างกรณีอาหรับสปริง หรือว่าประชาธิปไตยเป็นกระแสที่วน หรือประชาธิปไตยในคลื่นลูกที่สามมันเดินไปได้แค่ครึ่งเดียว ไม่พาไปสู่ลูกที่ 4 การเปลี่ยนผ่านที่ไม่จบเป็นการปกครองที่อยู่ในพื้นที่สีเทาและกำลังรอการเปลี่ยนผ่านอีกหน ถ้าเปลี่ยนผ่านรอบแรกจบมันจะเดินไปสู่การสร้างเงื่อนไขประชาธิปไตยให้เป็นเกมเดียวของการแข่งขัน ซึ่งมอง ณ วันนี้ประเทศไทยไม่น่าจะเดินไปถึงตรงจุดนั้น

Back to top button