น้ำกลางทะเลทรายพลวัต 2016
เมื่อวานนี้ กองทุนในประเทศพากันกลับใจ (ไม่รู้เพราะใบสั่งหรือเพราะสำนึกผิด) จากการขายเมื่อวันศุกร์แรง กลับมาซื้อแรงตั้งแต่ต้น และแรงยิ่งขึ้นในการซื้อขายภาคบ่าย โดยเมื่อปิดตลาดดัชนี SET บวกไป 11.12 จุด กองทุนซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 4.501 พันล้านบาท และซื้อ Long สุทธิในตลาดอนุพันธ์ล่วงหน้าหรือ TFEX มากถึง 10,400 สัญญา
วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ กองทุนในประเทศพากันกลับใจ (ไม่รู้เพราะใบสั่งหรือเพราะสำนึกผิด) จากการขายเมื่อวันศุกร์แรง กลับมาซื้อแรงตั้งแต่ต้น และแรงยิ่งขึ้นในการซื้อขายภาคบ่าย โดยเมื่อปิดตลาดดัชนี SET บวกไป 11.12 จุด กองทุนซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 4.501 พันล้านบาท และซื้อ Long สุทธิในตลาดอนุพันธ์ล่วงหน้าหรือ TFEX มากถึง 10,400 สัญญา
พฤติกรรมการดันดัชนีระลอกใหม่เมื่อวานนี้ของกองทุนในประเทศ ทำให้เกิด เทคนิคัล รีบาวด์ ที่ดูดี และ นักวิเคราะห์หลายสำนักก็มีมุมมองเชิงบวกว่า ธุรกิจไทยจะไม่ได้รับผลกระทบทางลบมากนัก โดยเฉพาะหุ้นที่ไม่ได้มีธุรกรรมในต่างประเทศ หรือ มีกับสหภาพยุโรป
มุมมองทางบวกดังกล่าว ไม่สอดรับหรือมีสหสัมพันธ์กับสถานการณ์เมื่อวานนี้ในตลาดเก็งกำไรทั่วโลกมากนัก จนกระทั่งมีคำถามว่ามุมมอง “ไทยๆ” ที่เกิดขึ้น จะมีสภาพเป็น “แอ่งน้ำกลางทะเลทราย” (mirage) หรือไม่
แอ่งน้ำกลางทะเลทราย คือภาพลวงตาที่เกิดจากการหักเหของแสงที่สะท้อนเข้ามาในดวงตาของผู้รับจนระทั่งเกิดการเข้าใจผิดหรือหลงผิด ทั้งที่ภาพดังกล่าวไม่ได้มีอยู่จริง
การร่วงลงของตลาดหุ้นยุโรปในช่วงแรกเพียงเล็กน้อย อาจจะไม่ทำให้ตลาดหุ้นไทยรู้สึกกังวล แต่หลังจากตลาดหุ้นไทยปิดทำการไปแล้ววานนี้ นักลงทุนก็คงตระหนักกันได้ดีว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยวานนี้ น่าจะเป็น “แมวตายเด้ง” (dead-cat bounce) ตามธรรมดา ซึ่งน่าจะส่งผลลบต่อในวันนี้ได้ไม่ยาก
เหตุผลสำคัญคือ ปรากฏการณ์ “อาฟเตอร์ช็อก” ของประชามติที่อังกฤษยังไม่นิ่ง และยังต้องการความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมากมายที่เป็นองค์ประกอบในความซับซ้อนของกระแสโลกาภิวัตน์
ว่ากันในสหภาพยุโรปก่อนรากเหง้าของการสาปนาสหภาพยุโรปที่ใช้เวลายาวนานกว่าจะเกิดเป็น “ฉันทามติแห่งกรุงบรัสเซลส์” (Brussells Consensus) นั้น ใช้เวลายาวนานกว่า 40 ปี ผ่านการถกเถียงครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งในหมู่นักคิด และในหมู่ชนชั้นนำระดับกุมนโยบายรัฐของชาติสมาชิกทั้งรุ่นก่อตั้งและรุ่นสมทบ ถึงข้อดี และข้อเสียของการเป็นสหภาพยุโรป
การถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป แม้ว่าจะทำให้สหภาพมีขนาดและอำนาจต่อรองที่ต่ำลง แต่ข้อเท็จจริงที่คนภายนอกไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยคือ ความเข้มข้นของ “ฉันทามติแห่งกรุงบรัสเซลส์” จะยังดำรงอยู่ต่อไป และนั่นหมายถึงการปรับตัวครั้งสำคัญเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นับตั้งแต่ระยะเฉพาะหน้าว่าด้วยความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และตราสารหนี้ของรัฐบาลชาติต่างๆ ในยุโรป และของรัฐบาลทั่วโลก
ในอังกฤษเองนั้น นายมาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษที่มาจากแคนาดา ถูกตั้งข้อหาจากคนอังกฤษผู้ที่อยู่เบื้องหลังชัยชนะในการลงประชามติว่าเป็นบุคคลที่สมควรต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนใคร เพราะ “เอียงข้าง” ฝ่ายที่ต้องการให้อยู่ต่อไปตั้งแต่ก่อนลงประชามติแล้ว
ข้อกล่าวหาดังกล่าว (แม้ว่านายคาร์นีย์จะเตรียมพิมพ์ธนบัตรช่วยกอบกู้เศรษฐกิจอังกฤษด้วยการอัดฉีดเงินกว่า 2.5 แสนล้านปอนด์ออกมาแก้สภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้) ทำให้การประชุมสุดยอดนายธนาคารกลางโลกที่โปรตุเกสเมื่อวานนี้ ไม่มีนายคาร์นีย์ที่ถอนตัวจากการร่วมประชุมกะทันหัน
ไม่เพียงเท่านั้น นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯ ก็ยังถือโอกาสถอนตัวจากการประชุมโดยปริยายเพราะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในวอชิงตัน ดีซี. ท่ามกลางตลาดเก็งกำไรที่ปั่นป่วนต่อไปอีกวัน
ความปั่นป่วนที่รุนแรงในตอนหัวค่ำ (ตามเวลาประเทศไทย)วานนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นในยูโรโซน ในขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของโลกทั้งที่เป็นสินค้าเกษตรกรรม และ โลหะ (ยกเว้นราคาทองคำ) ที่ทำท่าจะรีบาวด์ในช่วงเช้าของตลาดเอเชีย ก็กลับร่วงแรงตามไปด้วย บ่งบอกทิศทางขาลงที่กลับมาถล่มอีกครั้ง
ไม่เพียงเท่านั้นดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าก็ดิ่งลงกว่า 100 จุด ตามการร่วงลงของตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งบ่งชี้ว่า ความกังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังจากที่ นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาระบุว่า การถอนตัวของอังกฤษ จะนำมาซึ่งช่วงเวลาที่เลวร้ายยิ่งกว่าเหตุการณ์ “แบล็กมันเดย์” ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1987 เพราะ “ครั้งนี้ ปัญหาจะฝังลึก และจะไม่หายไป”
ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงที่ร่วงลงต่อเนื่องจากวันศุกร์ที่ร่วงลง 9% เทียบกับดอลลาร์ ลงมาที่ระดับ 1.319 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หรือลดลง 3.52% ยังคงสะท้อนความอ่อนไหวของนักลงทุนเก็งกำไร
จอร์จ โซรอส เศรษฐีนักเก็งกำไรจากการโจมตีค่าเงินปอนด์เมื่อ 30 ปีก่อน แต่ครั้งนี้ เข้าไปเก็งกำไรว่าอังกฤษจะอยู่ในสหภาพยุโรปต่อ ถึงกับพูดไม่ออกเมื่อมีคนตั้งคำถามว่าเขาขาดทุนไปมากน้อยเท่าใด จากการเก็งกำไรผิดพลาด เพราะความเชื่อว่าเงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้นไป หากอังกฤษไม่ถอนตัวออก
ในทางกลับกัน ค่าเงินเยนยังคงแข็งค่าต่อเนื่องจนกระทั่งหลายคนจับตามองว่าคำมั่นสัญญาที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นบอกกับชาติ G7 เมื่อเดือนที่แล้วว่า จะยังไม่เข้าแทรกตลาดเงินจนกว่าจะมีค่าเงินเยนที่ระดับ 95 เยนต่อดอลลาร์แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยังคงต้องระวังกันต่อไป เพราะค่าเงินเยนยังคงแข็งต่อเนื่องมาที่ระดับ 101 เยนต่อดอลลาร์แล้ว
ความปั่นป่วนในคืนที่ผ่านมา และจะดำเนินต่อไปอีกวันนี้ ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นของ “ตาบอดคลำช้าง” ของนักลงทุนในยามที่โลกกำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดว่าด้วย “เอกภาพของภูมิภาคนิยม” อย่างจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากที่เคยตั้งคำถาม เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ภายใต้ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) มาแล้ว
วันนี้นักลงทุนไทย จะรู้ชัดเสียทีว่า แอ่งน้ำกลางทะเลยทราย เมื่อวานนี้ มีจริงหรือไม่