ขาดเธอไม่ได้…ขอสารภาพแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
จากที่ลือกันได้ยกใหญ่มานับเดือนว่า ผู้ที่จะมานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB จะเป็น นายญนน์ โภคทรัพย์ อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ก็มีประกาศใหม่มาสร้างเซอร์ไพรส์...แต่ไม่ประหลาดใจ
จากที่ลือกันได้ยกใหญ่มานับเดือนว่า ผู้ที่จะมานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB จะเป็น นายญนน์ โภคทรัพย์ อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ก็มีประกาศใหม่มาสร้างเซอร์ไพรส์…แต่ไม่ประหลาดใจ
วันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีมติของคณะกรรมการ TMB ระบุว่า ได้มีมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้งให้นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร ซึ่งกำลังจะหมดวาระสิ้นปี 2559 ต่อไปอีก 2 ปี
เหตุผลที่นำมาอ้าง ก็รับฟังได้…เพราะว่า นายบุญทักษ์ได้วางรากฐานการทำงานของธนาคารไว้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง อีกทั้งธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการปฏิรูปต่อไปสู่การเป็นธนาคารดิจิทัล โดยวางรากฐานที่แข็งแกร่งของดิจิทัลแบงก์กิ้ง สำหรับยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา…ด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ปลอดภัยและแข็งแกร่ง ใช้งานง่าย และเชื่อมต่อกันอย่างราบรื่น ให้ลูกค้าได้ใช้ชีวิตเต็มที่ในแบบที่ต้องการ
พูดสั้นๆ ได้ใจความชัดเจนก็คือ…มีความเสี่ยงมากเกินไปที่จะ “เปลี่ยนม้ากลางลำธาร”
ม้าแก่ชำนาญทาง อย่างนายบุญทักษ์นั้นจึงต้องเหนื่อยยากกันต่อไปอีก 2 ปี…ซึ่งถึงเวลานั้น ก็คงได้เวลาอำลาจริงของ บุญทักษ์ หวังเจริญ…
ข่าวดังกล่าว นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยพากันตอบรับในทางบวก เห็นได้จากการที่ราคาหุ้น TMB เมื่อวานนี้ บวกแรงถึง 0.14 บาท หรือ 6.73% เลยทีเดียว ไม่ค่อยปรากฏที่ราคาหุ้น TMB จะวิ่งแรงอย่างนี้มานานหลายเดือนแล้ว
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายธนาคารที่ถูกฝึกงานวิชาชีพกับธนาคารกสิกรไทยหรือ KBANK มาโดยตลอด ถูกเทียบเชิญตัวมานั่งเพื่อฟื้นกิจการของธนาคารทหารไทย ยุคที่ 4 เมื่อมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่สุดมาเป็นกลุ่มธนาคาร ING ของเนเธอร์แลนด์
ในปี 2552 กลุ่มธนาคาร ING ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 1.6 หมื่นล้านของ TMB ที่มีปัญหาทางการเงิน หลังจากผ่านยุคที่ 3 มาได้ไม่นาน ภายหลังการควบรวมกิจการกับอีก 2 สถาบันการเงิน ปี 2547 คือ ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำกัด จนการเพิ่มทุนหลายครั้ง ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
การเข้ามารับผิดชอบงานอันแสนยากลำบาก จากกิจการที่เต็มไปด้วยปัญหา และมีความสามารถทำกำไรต่ำ บุญทักษ์ถูกตั้งความหวังว่า จะใช้ความรู้ความชำนาญอันยาวนานให้สามารถขับเคลื่อนนาวาที่คร่ำคร่านี้ ให้กลับมาเทิร์นอะราวด์ได้อีกครั้ง โดยไม่มีปัญหาขัดแย้งจนกระทั่งเกิดความแตกร้าวอื้อฉาว ดังที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าหลายต่อหลายครั้ง
3 ปีแรกของนายบุญทักษ์ ผ่านไปกับความพยายามอันยากเย็น รวมทั้งการตั้งสำรองรอบพิเศษ เพื่อความแข็งแกร่งของคุณภาพทรัพย์สิน นอกเหนือจากการขาย NPL ออกไปมากขึ้น แม้จะส่งผลให้กำไรของธนาคารลดลง แต่เพิ่มโอกาสในการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการสร้างรายได้ในอนาคตจะมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ผลพวงของการทำงานก็เริ่มผลิดอกออกผลเมื่องบปี 2555 ของ TMB กลับมาทำกำไรด้วยตัวเลขสวยงาม ทำให้ธนาคารรอดพ้นวิบากกรรมอันยาวนานกว่า 14 ปี
การล้างขาดทุนสะสมจนหมด และเริ่มเตรียมกลับมาจ่ายปันผลต่อเนื่องทุกปี แม้จะน้อยนิด แต่ก็ดีกว่าไม่มี…จะให้อู้ฟู่มากมายเหมือนธนาคารอื่นๆ..ก็เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่แฟร์
แม้ว่าราคาหุ้น TMB จะยังคงต่ำเตี้ยที่ระดับ ใต้ 3.00 บาท แต่การที่ยังคงสามารถรักษาฐานะล่าสุดเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับที่ 5 ของประเทศ หากนับจากสินทรัพย์ สินเชื่อ และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ก็ถือว่าทำได้ดีที่สุดในโลกที่เป็นไปได้แล้ว…มิใช่หรือ????
บนเส้นทางก้าวข้ามวิบากกรรม จนสามารถพลิกฐานะของธนาคารที่มีบาดแผลเรื้อรังจากการบริหารที่ไม่ลงตัวยาวนาน มาสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีโอกาสสูงในการเพิ่มความสามารถในการสร้างผลกำไรต่อทุนมากขึ้น มีศักยภาพภายในองค์กรที่ลงตัวดี และมีเสถียรภาพ ถือว่า บุญทักษ์ได้สร้างผลงานที่ยากจะเลียนแบบได้ง่ายๆ
ปี 2559 ซึ่งเดิมเชื่อกันว่า จะเป็นปี “ทิ้งทวน” และนายบุญทักษ์จะต้องทำให้ TMB มีกำไรเกินระดับ 1 หมื่นล้านบาทโดยมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อ 8–10% และยังคงเน้นมาตรการในการดูแลคุณภาพของสินทรัพย์ โดยที่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จะรักษาระดับไว้ไม่ให้เกิน 3%…ผ่านไปครึ่งปีแล้ว
รอยโหว่เล็กๆ น้อยๆ ที่ถือเป็น “โบว์แดงแห่งปี” ของนายบุญทักษ์ ล่าสุดที่ตัดสินใจ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหลือ 0% สำหรับเงินฝากบางรายการ ตามแผนการปรับโครงสร้างเงินฝากใหม่ เพื่อแยก “ลูกค้าที่ต้องการความสะดวก” ออกจาก “ลูกค้าที่ต้องการมีผลตอบแทนการออม” ออกจากกัน โดยให้ลูกค้าสามารถถอนหรือโอนเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา ไปอยู่ที่บัญชีทีเอ็มบี โน ฟิกซ์ หรือบัญชีเงินฝากไม่ประจำ ที่ไม่กำหนดอัตราเงินฝากขั้นต่ำ และให้อัตราดอกเบี้ย 1.4% สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จ่ายในอัตรา 0.125%
มาตรการลดดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าว ถูกยกเลิกในเวลากะทันหันวันเดียวกัน หลังจากที่มีปัญหา “การสื่อสารการตลาด”ที่บกพร่อง…ก่อนที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้น ..แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก …ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
จากนี้อีก 2 ปี นายบุญทักษ์ คงมีโอกาสสร้างผลงานและกำไรให้กับ TMB ต่อไป ส่วนจะทำได้ดีกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน …ต้องติดตามกันต่อไป…
สงครามยังไม่จบ ไม่ควรนับศพทหาร…คำโบราณว่าไว้เช่นนี้