แพ้ประชามติไม่ต้องออก?ทายท้าวิชามาร
พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ยืนยันว่าถ้า “แพ้ประชามติ” คสช.ก็ไม่ต้องลาออกแบบนายกรัฐมนตรีอังกฤษเพราะ คสช.เป็นคนกำหนดกติกาแถมย้อนถามว่าประชาชนจะไม่ร่วมรับผิดชอบกับท่านเลยหรือท่านรับผิดชอบอยู่แล้วที่เข้ามา
ใบตองแห้ง
พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ยืนยันว่าถ้า “แพ้ประชามติ” คสช.ก็ไม่ต้องลาออกแบบนายกรัฐมนตรีอังกฤษเพราะ คสช.เป็นคนกำหนดกติกาแถมย้อนถามว่าประชาชนจะไม่ร่วมรับผิดชอบกับท่านเลยหรือท่านรับผิดชอบอยู่แล้วที่เข้ามา
จริงสิครับประชาชนน่าจะรับผิดชอบร่วมกับท่านแต่เฉพาะประชาชนที่เชียร์รัฐประหารนะเพราะประชาชนอีกตั้งมากไม่เห็นด้วยแต่ถูกบังคับให้อยู่ใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์
คสช.มักบอกว่าท่านไม่ต้องรับผิดเพราะท่านไม่ใช่คนผิดไม่ใช่คนสร้างปัญหาต้องโทษนักการเมืองโกงกินโทษประชาชนแบ่งฝ่ายสร้างความวุ่นวายจนท่านต้องเข้ามาที่ท่านยอมยึดอำนาจนี้เป็นบุญคุณต่อบ้านเมืองนักหนาฉะนั้นใครจะมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านท่านไม่ได้
ยึดอำนาจแล้วท่านก็โทษคนไม่เห็นด้วยขัดขวางจ้องทำลาย ทั้งที่ไม่มีใครกระดิกได้ภายใต้ม.44 ท่านกำหนดโรดแมปเองตั้ง สปช. ตั้งกมธ. ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็ล้มกันเอง ยืดโรดแมปออกไปไม่เห็นมีใครรับผิดชอบอะไรท่านก็บริหารประเทศต่อไปใช้ ม.44 เป็นยาวิเศษสั่งโน่นสั่งนี่กระทั่งสั่งห้ามนักเรียนตีกันสั่งย้ายข้าราชการจนหมดสต๊อกสุดท้ายก็ย้ายข้าราชการที่ตัวเองตั้ง
ม.44 ครั้งล่าสุดที่ย้ายผู้ว่าฯย้ายผู้บัญชาการ ย้ายผู้การชื่อเป็นหางว่าว ชาวบ้านโห่ร้องดีใจ “ปราบโกง” อีกแล้ว ที่ไหนได้ทุกรายเพิ่งแต่งตั้งในยุคนี้แล้วคนที่แต่งตั้งรับผิดชอบไหม
ก็เหมือนแก้ประมงไม่ให้โดนโบแดงโทษนักการเมืองทิ้งปัญหาไว้แต่ทำไมตั้งอธิบดีกรมประมงแล้วใช้ม.44 ย้ายเอง
“ปราบโกง” เพลินๆ เจอ GT200 ก็ใบ้กินนี่ยังไม่มีใครทวงถามเรือเหาะรถเกราะล้อยาง แต่พอฮ.ตกก็อ้างว่าต้องซื้อฮ.ใหม่
แน่ละถ้าผลประชามติออกมา “ไม่รับ” ก็ไม่มีใครบังคับให้คสช.รับผิดชอบได้ไม่มีใครไล่หรือโค่นล้มคสช.ได้เพราะท่านมาด้วยอำนาจปืนไม่ได้มาด้วยประชามติซักหน่อยต่อให้แพ้ประชามติก็ยังอยู่ได้โดยอาจจะโยนเชือกให้ปู่มีชัยเป็นผู้แพ้ คสช.ไม่เกี่ยวอะไร
แต่ในทางการเมืองถามว่าคสช.จะใช้อำนาจต่อไปอย่างไรพูดนะพูดง่ายนะครับว่าถ้าไม่ผ่านก็อยู่ต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่แต่อยู่ในสภาพไหน มีความชอบธรรมเพียงไรแม้ไม่แยแสความชอบธรรมแต่ก็จะอ้างไม่ได้ว่าประชาชนนิยมสนับสนุน 99.5% เช่นที่เคยอ้างไว้
คสช.จะอยู่ในสถานะสั่นคลอนที่สุดเหลือแต่อำนาจกองทัพค้ำไว้ไม่จำเป็นต้องลาออกหรอกครับถึงตอนนั้นอยากออกก็ออกไม่ได้
ข้อพึงสังเกตคือความขัดแย้งในสังคมไทยไม่ได้มีคู่เดียวไม่ได้เป็นเพียง คสช. Vs ระบอบทักษิณล่าสุดยังมีสุเทพ เทือกสุบรรณกปปส. Vs แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกหมัดสวนกัน “รับ-ไม่รับ” อย่างน่าจับตา ไม่ใช่แค่วิลาศจันทรพิทักษ์, วัชระเพชรทอง ประกาศ “ไม่รับ” แต่นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติยังจะไปสังสรรค์กับสุดารัตน์เกยุราพันธ์, สมศักดิ์ปริศนานันทกุล เพื่อ “หาทางออกร่วมกัน”
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้ามองว่าโครงสร้างอำนาจในร่างรัฐธรรมนูญ+คำถามพ่วงรวบอำนาจไว้ฝ่ายเดียวจนหลายฝ่ายไม่พอใจจนมองเห็นว่าถ้าร่วมมือกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นโอกาสที่จะรื้อโครงสร้างอำนาจใหม่
เอาไว้วันพุธนี้หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประชามติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่เราจะเห็นทิศทางการเมืองไทยชัดเจนขึ้น