ดาบสอง…กันพลาด แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ดาบสอง...กันพลาด
ข่าวล่าสุดจาก ก.ล.ต. มีความน่าสนใจว่า กรณีจัดการกับนักปั่นหุ้นนั้น ในที่สุด จะลงเอยด้วยการจับได้ปลาซิว หรือปลาวาฬ…กันแน่
คำปรามาสของใครต่อใครที่เคยตั้งฉายาน่ารักน่าชังว่า เสือกระดาษ หรือ ยักษ์ไร้ตะบอง ยังสมควรใช้กับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอีกนานระดับมหาอมตะนิรันดร์กาล… หรือสมควรยกเลิกไปเลย
กรณีล่าสุด วันที่ 28 มิถุนายน ก.ล.ต.มีคำสั่งเปรียบเทียบผู้กระทำผิด 9 ราย กรณีร่วมสมคบคิดสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI สำหรับความผิดที่กระทำด้วยการใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนหลายบัญชี เพื่อสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น UMI ระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ในลักษณะอำพราง เพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่าหุ้น UMI มีการซื้อขายกันมาก ผ่านการซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องจนผิดไปจากสภาพปกติของตลาด
เรียกภาษาชาวบ้านคือปั่นหุ้นนั่นแหละ…ไม่ต้องอ้อมค้อม
ผลของการปั่นหุ้นคือ ราคาปิดของหุ้น UMI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 เท่า จากราคาหุ้นละ 7.75 บาท เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 ไปปิดที่ราคา 38.75 บาท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ส่วนปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 9 เท่า จากวันละ 3 ล้านหุ้น เป็น 30 ล้านหุ้น
คนทั้ง 9 เป็นตัวการร่วมและผู้ให้การสนับสนุน ไม่ใช่ “ตัวการ” จริง โดยที่ 5 ใน 9 คน ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมก่อการ ได้แก่ (1) นายแฉล้ม เสมสฤษดิ์ (2) นายพรหมกรรณ ศรีณรงค์ (3) นางกชพร สิงห์ทอง (4) นายชูเกียรติ สิงห์ทอง (5) นายปราบภณ สิงห์ทอง ล้วนเป็นพนักงานหลักทรัพย์ที่เรียกสั้นๆ ว่า “มาร์เกตติ้ง” ในขณะที่ตำแหน่งทางการ คือ ผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์
โดยเฉพาะหัวขบวนคือ นายแฉล้ม ขณะเกิดเหตุเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ บล.คันทรี่กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS เลยทีเดียว
ส่วนอีก 4 คนที่เหลือ เป็นผู้ให้การสนับสนุน คือ 1) นายประเศียร คงบุญ 2) นางสาวศิริกร ทองสาหร่าย (ขณะเกิดเหตุชื่อนางสาวภัฑริกา คงบุญ) 3) นายสมชาย คงบุญ และ 4) นายสมจิตร สะใบบาง ล้วนเป็นมาร์เก็ตติ้งบริษัท CGS เช่นเดียวกัน
ทั้ง 9 คน ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับ “ตัวการจริง” ที่อยู่ในบอร์ดบริหาร ผู้บริหาร หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 4 คนคือ (1) นางสาวปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ (ขณะเกิดเหตุเป็นประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการของ UMI) (2) นางปัณพร เหล่าวิวัฒน์วงศ์ (3) นางสาววรัญญา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ และ (4) นายตรัยรัธน์ ตรีรัตนพันธุ์
4 คนหลังนี้เป็นผู้รับประโยชน์ตัวจริง ด้วยการออกคำสั่งซื้อขายหุ้น ผ่านมาทาง 9 มาร์เก็ตติ้งที่เป็นผู้ร่วมสมคบคิด คีย์โปรแกรมซื้อขายมือเป็นระวิง
ตามขั้นตอนแล้ว ความผิดที่เกิดขึ้น หากผู้ที่ถูกกล่าหา ทำการ “สารภาพเพื่อลดราคา” จะถูก ก.ล.ต. เรียกให้จ่ายค่าปรับตามจำนวนที่เห็นสมควรแก่ความผิด แล้วก็หลุดรอดข้อกล่าวหาในคดีอาญาอื่นๆ แต่ถ้าหากไม่ยอมรับสารภาพหรือเสียค่าปรับ ก.ล.ต. จะต้องส่งให้หน่วยงานอื่นคือ ดีเอสไอ หรือ อัยการทำการส่งฟ้องร้องในคดีอาญาต่อไป ซึ่งอาจจะถูกลงโทษ หรือหลุดรอดคดีได้…แต่ก็อย่างที่รู้กัน…99% ของผู้ถูกกล่าหา จะหลุดรอดคดี ยกฟ้องมั่ง หรือไม่รับฟ้องมั่ง…ยกเว้นกรณีที่ดิ้นไม่หลุดเพราะ “จำนนต่อหลักฐาน”
ความน่าสนใจของกรณีนี้ อยู่ที่บรรดาคนที่ถูกหกล่าวหาว่าเป็น “ตัวการ” ทั้ง 4 คน นำโดยนางสาวปวีณา ไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบความผิดจาก ก.ล.ต. ด้วยการเสียค่าปรับ
ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษ “ตัวการ” ทั้ง 4 คน ต่อกรมดีเอสไอ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทำให้ นางสาวปวีณา ขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง
พนักงานของ CGS ทั้ง 9 คน ที่เป็น “ตัวการร่วม” และ “ผู้สนับสนุน” กลับยอมรับสารภาพโดยดุษณี โดยยอมรับการเสียค่าปรับ ซึ่งปรากฏว่า งานนี้ มีมูลค่าปรับรวมทั้ง 9 คนมากถึง 447,263,780.45 บาท โดยนายแฉล้มถูกปรับ 72.18 ล้านบาท พร้อมถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาร์เก็ตติ้ง เป็นเวลา 10 ปี
ส่วนนายพรหมกรรณ นางกชพร นายชูเกียรติ และนายปราบภณ ถูกปรับรายละ 56.26 ล้านบาท และกลุ่มผู้สนับสนุนอย่าง นายประเศียร นายสมชาย นางสาวศิริกร และนายสมจิตร ถูกปรับรายละ 37.50 ล้านบาท ..งอมพระรามและหมดอาชีพไปตามๆ กัน
การ “กระชับวงล้อม” ของ ก.ล.ต.ครั้งนี้ จะทำให้ “ตัวการ” ยอมจำนนต่อหลักฐาน หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ท้าทาย เพราะกูรูด้านกฎหมายที่ช่ำชองบอกว่า “ตัวการ” สามารถหาหลักฐานมาโต้ว่า “ไม่ได้สั่งการ”… แต่เพราะกลุ่มมาร์เก็ตติ้งทำผิด “โดยพลการ”
หากกระบวนการยุติธรรมในท้ายที่สุด วินิจฉัยออกมาว่า คดีนี้ “ตัวการ” เกิดหลุดคดี…แต่ผู้ก่อการร่วม หรือ ผู้สนับสนุน ที่จะถูกกันเป็นพยาน ถูกลงโทษงอมพระราม…คงเป็นเรื่องสุดฮา…แห่งปี (อีกครั้ง)…แบบไทยๆ
อิ…อิ.. อิ