GRAMMY หน้าเลือด! แม้แต่ร้านกาแฟยังไม่เว้น
GRAMMY หน้าเลือด! แม้แต่ร้านกาแฟยังไม่เว้น เรียกเก็บค่าปรับจากการเปิดเพลงผ่านยูทูบโดยไม่มีลิขสิทธิ์ 20,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งใน จ.แพร่ ถูกค่ายเพลงจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ในเครือบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY แจ้งความหลังเปิดเพลงของค่ายผ่านยูทูบโดยไม่มีลิขสิทธิ์ จนสุดท้ายต้องยอมจ่ายค่าปรับ 20,000 บาท ก่อนนำเรื่องที่เกิดขึ้นมาแชร์เตือนเหล่าผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านกาแฟทั้งหลายไม่ให้เปิดเพลงผ่านยูทูบเพราะอาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์
ขณะที่ทางเพจ T-bone ของศิลปินวง T-bone ได้ออกมาประกาศ อนุญาตให้ร้านกาแฟทั้งหลายนำเพลงของทางวงไปเปิดในร้านได้ตามสบาย โดยระบุว่า “ถ้าทำให้บรรยากาศดีขึ้น ทีโบนยินดีครับ”
เช่นเดียวกับทางเพจ Byrd & Heart ได้ออกมาส่งข้อความถึงผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายว่า “ผู้ประกอบการที่ไหนไม่มีเพลงเปิดให้ลูกค้าฟังเพราะกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ ก็เอาเพลงของ Byrd & Heart ไปเปิดได้เลยนะครับ… แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาจับ แต่ เบิร์ด กับ ฮาร์ท อาจจะขอไปแจกลายเซ็นถึงที่”
ล่าสุดวง Lipta เป็นอีกวงที่ออกมาประกาศจุดยืนเรื่องนี้ โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Lipta ระบุว่า “เรายังไม่ได้เก็บลิขสิทธิ์ค่าเปิดเพลง และไม่มีแผนที่จะทำ บางเพลงก็พยายามลองทำคาราโอเกะให้ไปร้องเล่นกัน อยากให้งานที่เราทำด้วยใจไปสู่คนฟังเยอะๆ” พร้อมระบุเพิ่มเติมด้วยว่า “เพลงของวงที่อยากขอไปร้องไปเล่นกัน บางคนก็ทำจดหมายมาขอไปใช้ แต่อยากบอกไว้ตรงนี้เลยว่าทุกเพลงที่เราแต่ง สามารถนำไปใช้ได้เลย ไม่ได้ใจดีอะไร แต่เวลาเห็นคลิปที่คนเอาไปร้องแล้วมันตื้นตันใจ”
อย่างไรก็ตาม เพจ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้เผยแพร่บน Facebook ว่า การเปิดเพลงในร้านกาแฟ ร้านอาหาร ไม่ว่าจากสื่อใดๆ เช่น ซีดี ดีวีดี Youtube ถือเป็นการ #เผยแพร่ต่อสาธารณชน ที่ต้อง #ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน เพราะอาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์
และจากฏีกาที่ศาลได้เคยพิพากษาว่า การเปิดเพลงในร้านอาหารโดยไม่มีการเก็บค่าฟังเพลงด้วยถือว่าไม่ได้หากำไรจากการเปิดเพลง ย่อมไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ #เป็นฏีกาเฉพาะคดีนั้น ซึ่งมีรายละเอียดข้อเท็จจริงเฉพาะเรื่อง
ไม่อาจปรับใช้ได้กับการเปิดเพลงในร้านอาหารกรณี อื่นๆ ได้เสมอไป
สำหรับอัตราค่าลิขสิทธิ์เพลงของ GRAMMY มีดังนี้
ร้านอาหาร, Fast Food, Food Court, Pub & Restaurant
– จำนวนที่นั่ง 1-60 ที่นั่ง = 12,500 บาท / ปี / สถานที่
– จำนวนที่นั่ง 61-120 ที่นั่ง = 16,500 บาท / ปี / สถานที่
– จำนวนที่นั่ง 121-180 ที่นั่ง = 20,000 บาท / ปี / สถานที่
– จำนวนที่นั่ง 180 ที่นั่งขึ้นไป = 30,000 บาท / ปี / สถานที่
ลานเบียร์
– จำนวนที่นั่ง 1-60 ที่นั่ง = 20,000 บาท / เดือน / สถานที่
– จำนวนที่นั่ง 60 ที่นั่งขึ้นไป = 30,000 บาท / เดือน / สถานที่
โรงแรม (Hotel), โรงพยาบาล (Hospital), สถานตากอากาศ (Resort)
– ค่าห้องเฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาท = 300 บาท / ปี / ห้อง
– ค่าห้องเฉลี่ยมากกว่า 3,000 บาท = 500 บาท / ปี / ห้อง
ห้างสรรพสินค้า (Department Store), ซุปเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket)
– พื้นที่ตั้งแต่ 1 – 2,000 ตารางเมตร = 40,000 บาท / ปี / สถานที่
– พื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป = 60,000 บาท / ปี / สถานที่
ศูนย์สุขภาพ (Fitness) = 10,000 บาท / ปี / สาขา
สำนักงาน / พื้นที่ต้อนรับ = 40,000 บาท / ปี / สาขา
สถานโบว์ลิ่ง (Bowling) = 740 บาท / ปี / เลน (ราง)
รถบัส , รถนำเที่ยว , เรือ , เรือโดยสาร = 15,000 บาท / ปี / คัน (ลำ)
ขณะที่ล่าสุดราคาหุ้น GRAMMY ปิดวันที่ (30 มิ.ย.) ทรงตัวอยู่ที่ 8.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขายที่ 0.42 ล้านบาท