เศษเนื้อข้างเขียงแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

คำสั่งลงโทษซ้ำของก.ล.ต. ต่อ 2 พนักงานที่เรียกว่า มาร์เก็ตติ้ง (เรียกอย่างเป็นทางการว่า ผู้แนะนำการลงทุน) ล่าสุดวันจันทร์ที่ผ่านมา ตอกย้ำว่า “เชื้อชั่วไม่เคยตาย”


คำสั่งลงโทษซ้ำของก.ล.ต. ต่อ 2 พนักงานที่เรียกว่า มาร์เก็ตติ้ง (เรียกอย่างเป็นทางการว่า ผู้แนะนำการลงทุน) ล่าสุดวันจันทร์ที่ผ่านมา ตอกย้ำว่า “เชื้อชั่วไม่เคยตาย”

การที่พนักงานที่มีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าที่เป็นนักลงทุนรายย่อย (หรือรายบุคคล) พยายามใช้สายสัมพันธ์ต่อเนื่องกับลูกค้า…ที่มักจะเป็นพวก “ขาใหญ่” เป็นสำคัญ ไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อย …ที่ปกติแล้วอยู่นอกสายตาเสมอมา..หารายได้พิเศษจาก “ลาภอันมิควรได้” ไม่ใช่เรื่องแปลก

ทำกันเป็นเรื่องปกติ…เพราะเหตุผลง่ายคือ..ใครๆ ก็ทำกัน…

เว้นเสียแต่ว่า วันไหนโชคร้าย ถูกจับได้คาหนังคาเขา…แบบมีใบเสร็จยืนยัน..เพราะหลงลืมทิ้งหลักฐานเอาไว้ไม่แนบเนียนอย่างมืออาชีพ..การลอยนวลก็จบสิ้นลง เพราะถูกลงโทษแรง หมดทางหากินในอาชีพเดิมนี้…ต้องเร่ร่อนหาอาชีพใหม่กัน

คำสั่งของ ก.ล.ต. ที่สั่งลงโทษมาร์เก็ตติ้งของบริษัทหลักทรัพย์ 2 แห่งเมื่อวันจันทร์ จึงไม่ใช่รายแรก และไม่ใช่รายสุดท้าย เพียงแค่เป็นรายล่าสุด….มีรายละเอียดให้ศึกษากันพอหอมปากหอมคอ ไม่ควรผ่านเลยไป

กรณีแรกสุด นางสาวปณิตา อรรถเสรีวงศ์ อดีตพนักงานของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET กระทำการโดยมิชอบต่อทรัพย์สินของลูกค้า โดยได้จัดทำเอกสารสัญญาในนามของบริษัท และชักชวนลูกค้า 8 ราย ให้ฝากเงินเข้าบัญชีของบริษัท เพื่อลงทุนในโครงการลงทุนที่ไม่มีอยู่จริง

วิธีการคือ นางสาวปณิตา ได้ทำให้ลูกค้ายินยอมมอบหมายการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทนผู้ลงทุนมาเป็นของตนเอง ทำการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ฝากเงินเป็นลูกค้า (จำลอง) ที่เกี่ยวข้องกับตนเองอีกหลายราย แล้วนำเงินของลูกค้าตัวจริง ไปทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของลูกค้า (จำลอง) ดังกล่าว และถอนเงินออกจากบัญชีเพื่อประโยชน์ของตนเอง ทำให้ลูกค้าผู้โอนเสียหาย

กรณีของการผ่องถ่ายเงินเพื่อ “จับเสือมือเปล่า” ทำกำไรเข้ากระเป๋าตนเอง โดยใช้เงินของลูกค้า ถูกเจ้าหน้าที่ภายในของ MBKET ตรวจสอบพบ และได้เลิกจ้าง และแจ้งความดำเนินคดีกับนางสาวปณิตาและบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นลูกค้าปลอม ก่อนส่งให้ ก.ล.ต.ดำเนินการต่อเพราะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วย “รับมอบหมายในการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทนผู้ลงทุน”

นักลงทุนคนไหนที่ตกเป็นเหยื่อเพราะ “ฝากคนอื่นให้หายใจแทนตัวเอง

อีกกรณี  นางสาวนิจวรรณ สิงห์คำ เคยเป็นพนักงานสังกัด บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด  ทำความผิดในขณะสังกัดบริษัทดังกล่าว ซึ่งถือว่าหนักข้อไปอีก

วิธีการผ่องถ่ายเงินเข้ากระเป๋า เริ่มด้วยการลงลายมือชื่อลูกค้า (ตัวจริง) ในฐานะผู้โอน และลูกค้า (ตัวปลอม) ในฐานะผู้รับโอน ซึ่งเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับนางสาวนิจวรรณ

จากนั้น นางสาวนิจวรรณนี้ ก็ทำการโอนหุ้นหรือหลักทรัพย์ออกจากบัญชีลูกค้า (ตัวจริง) ไปยังบัญชีหลักทรัพย์ของลูกค้า (ตัวปลอม)  รวมทั้งระบุหมายเลขโทรศัพท์ของตนเองในเอกสารการโอน เพื่อให้บริษัทใช้ยืนยันรายการ

ต่อมาเมื่อทำการซื้อขายจากพอร์ตลูกค้า (ตัวปลอม) ผ่านไป ก็มีการขายหลักทรัพย์ออกจากบัญชีลูกค้า (ตัวปลอม) นั้น และจัดการให้ลูกค้า (ตัวปลอม) โอนเงินให้นางสาวนิจวรรณเอง ส่งผลให้ลูกค้า (ตัวจริง) ได้รับความเสียหาย

การกระทำที่เข้าข่าย “มีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยการเบิกถอนโอนย้ายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน” นี้ เมื่อ บล.ไทยพาณิชย์ จับข้อเท็จจริงได้ ก็ทำการเลิกจ้างนางสาวนิจวรรณและให้ชดใช้หลักทรัพย์คืนลูกค้าทั้งหมดแล้ว

จากนั้นก็ส่งเรื่องให้ ก.ล.ต. พิจารณาโทษอีกตามกฎหมาย

ทั้ง 2 กรณีเป็นสิ่งที่ บล.ต้นสังกัดต้องการให้เกิดความชัดเจนว่า ความผิดที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดจาก “ความผิดพลาดของระบบตรวจสอบภายใน”  แต่เป็น “ความผิดพลาดส่วนบุคคลของพนักงานแต่ละราย

ก.ล.ต.ใช้เวลาพิจารณาอันยาวนาน (ตามเคย) ก่อนที่จะวินิจฉัยว่า การกระทำของนางสาวปณิตาและนางสาวนิจวรรณ เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กระทำการโดยมิชอบต่อทรัพย์สินของลูกค้า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ก.ล.ต. จึงสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุนของนางสาวปณิตาและนางสาวนิจวรรณ เป็นเวลา 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 แต่เนื่องจากอายุการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุนของนางสาวปณิตาสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และไม่ได้ต่ออายุการให้ความเห็นชอบ จึงกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไปเมื่อพ้น 10 ปี มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

เรียบร้อยไปอีก 2 ราย แต่นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่มีใบเสร็จ ถูกจับเท็จได้จากความผิดประจำที่มี 3 สูตร (ซึ่งก.ล.ต.ก็ทำท่ารู้ดี) คือ 1) มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่ซื่อสัตย์สุจริต กระทำการทุจริตต่อบริษัทและลูกค้า 2)  ปฏิบัติฝ่าฝืนหรือมีส่วนร่วมให้บุคคลอื่นปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่กำหนด 3) ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ที่มีนัยสำตัญ เช่น ตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทนลูกค้า

ตัวอย่างเช่นนี้ …บรรดาคนทำผิดที่ยังลอยนวลอยู่ …คงหนาวๆ ร้อนๆ พอสมควร

แต่ถ้าหากตั้งถามว่าปฏิบัติการ “กินเนื้อข้างเขียง” อย่างนี้..คำตอบก็คงยากมากๆๆๆ

เพราะอะไรหรือ…ก็รู้ๆ กันอยู่

อิ อิ อิ

Back to top button