“ก.ล.ต.”มองมาตรฐานบัญชีไทยยังมีปัญหา ตรวจสอบครั้งสองดีขึ้นเล็กน้อย
"ก.ล.ต."มองมาตรฐานบัญชีไทยยังมีปัญหา ตรวจสอบครั้งสองดีขึ้นเล็กน้อย
นายประกิด บุณยัษฐิติ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ภาพรวมของผลการตรวจคุณภาพงานสอบบัญชีในรอบการตรวจที่สอง (ปี 2556-2558) พบว่า สำนักงานสอบบัญชีทั้งหมด 25 แห่ง และผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนมีผลงานดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับผลการตรวจในรอบแรก (ปี 2553-2555) โดยคะแนนเฉลี่ยตามมูลค่าตลาดรวมในรอบการตรวจที่สองเท่ากับ 1.64 ซึ่งดีขึ้นจากรอบแรกซึ่งเท่ากับ 1.79 (คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 1 คือ ดีมาก ส่วนคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5 คือ ไม่ผ่าน)
อย่างไรก็ดี สำนักงานสอบบัญชีในรายที่ก.ล.ต.ยังตรวจพบข้อบกพร่องสำคัญที่ควรปรับปรุง อาทิ การปฏิบัติงานสอบบัญชีที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน และระบบติดตามผลที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น มีลูกค้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่เพียงร้อยละ 10 ของมูลค่าตลาดรวม ส่วนข้อบกพร่องที่สำคัญในระดับแต่ละงานสอบบัญชีประกอบด้วย การตรวจสอบการรับรู้รายได้ตามวิธีอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ การตรวจสอบบัญชีสินค้าคงเหลือและต้นทุนขาย เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลการตรวจคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชีนี้สามารถช่วยคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชีแต่ละแห่งได้ นอกจากนี้ การมีระบบการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพผู้สอบบัญชีในตลาดทุนที่ดีอย่างต่อเนื่อง ยังมีส่วนสำคัญทำให้ตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยบริษัทไทยที่ต้องการไประดมทุนในยุโรปสามารถใช้ผู้สอบบัญชีไทยได้ จึงเป็นการช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย
“ก.ล.ต.ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนคัดเลือกผู้สอบบัญชีโดยพิจารณาคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชี และผลงานของผู้สอบบัญชีรายบุคคลมากกว่าปัจจัยด้านค่าธรรมเนียมการสอบบัญชี เนื่องจากการมีระบบควบคุมคุณภาพที่ดีจะช่วยให้ผู้สอบบัญชีและบุคลากรที่อยู่ในสังกัดสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งช่วยให้คณะกรรมการตรวจสอบสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง”นายประกิดกล่าว
ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ผลักดันให้เกิดระบบนิเวศการรายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่สมดุลอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากการสื่อสารและจัดอบรมความรู้ด้านบัญชีอย่างต่อเนื่อง ให้กับผู้มีหน้าที่จัดทำรายงานทางการเงินของบริษัท ได้แก่ ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร (chief executive office: CEO) ผู้บริหารสูงสุดสายงานบัญชีและการเงิน (chief financial officer: CFO) และสมุห์บัญชี เข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของตน ซึ่งจะทำให้รายงานทางการเงินมีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพดีตั้งแต่ต้นทาง
สำหรับแผนงานในรอบการตรวจครั้งถัดไป (ปี 2559-2561) ก.ล.ต. ยังคงให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลผู้สอบบัญชี โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และจะร่วมมือกับสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ในการพัฒนาคุณภาพ โดยจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขประเด็นข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานที่สำคัญ