ทิ้งบอมบ์!!!แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
มีคนตั้งคำถามว่า ถ้าหาก นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้รับการต่ออายุตำแหน่งไปอีก 1 สมัย นักบริหารธนาคารที่เคยมีมุมมอง "โลกสวย" มาตลอด จะกล้าพูดถึงเรื่องลบขององค์กรอยู่หรือไม่
มีคนตั้งคำถามว่า ถ้าหาก นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้รับการต่ออายุตำแหน่งไปอีก 1 สมัย นักบริหารธนาคารที่เคยมีมุมมอง “โลกสวย” มาตลอด จะกล้าพูดถึงเรื่องลบขององค์กรอยู่หรือไม่
คำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของนายวรภัค ที่ระบุว่า สินเชื่อรวมของธนาคารในปีนี้มีโอกาสเติบโตพลาดเป้าหมายที่ 3% เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันสินเชื่อยังอยู่ในภาวะติดลบ เพราะสินเชื่อภาครัฐและสินเชื่อรายใหญ่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐยังไม่ชัดเจน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวยังส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน เป็นเรื่องผิดคาดอย่างยิ่ง สำหรับคนมาดนิ่ง…และนิ่ม อย่างนี้จะถือว่าเป็นรายการ“ทิ้งบอมบ์” ก็เข้าใจได้ แม้ว่าอาจจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้อีก ขึ้นกับเจตนาของคนฟัง
แม้ว่าคำพูดต่อมาของนายวรภัค ซึ่งปีที่ผ่านมา เพิ่งรับรางวัล “นักการเงินแห่งปี” จากสื่อแห่งหนึ่ง พร้อมกับคำสรรเสริญเชิงบวกยาวเหยียด จะบอกถึงเหตุผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า “ธนาคารยังไม่ปรับลดเป้าสินเชื่อในปีนี้ลง ยอมรับว่าเป็นความท้าทายที่ธนาคารต้องทำให้สินเชื่อถึงเป้าหมายที่ 3% ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ แต่ประเมินว่าสินเชื่อในครึ่งปีหลังน่าจะเห็นการขยายตัวขึ้นได้” ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดูดีขึ้น
อารมณ์แบบ “องุ่นเปรี้ยว” ของนายวรภัค ยังสามารถสังเกตได้ไม่ยากว่า ผิดหวังที่ไม่ได้รับการต่ออายุ ต้องทำงานให้กับ KTB แค่สมัยเดียวเท่านั้น…. เป็นสายน้ำ ไม่มีวันหวนกลับ
The river of no returns.
เก้าอี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเก้าอี้ที่ร้อนแรงสำหรับคนนั่งในตำแหน่งนี้เป็นระยะๆ หลายคนต้องผจญกับชะตากรรมพลิกผัน ดิ่งนรกหลังจากต้องมีอันกระเด็นออกจากตำแหน่ง … บางคนถึงขั้นติดคุกเห็นๆ (อย่าให้เอ่ยชื่อถึงขั้นสะเทือนซางผิดประเพณีไทยกันเลย) แต่ก็เป็นเก้าอี้ที่มีคนจำนวนไม่น้อยอยากจะทะยานขึ้นมาทดลองวิชามั่ง
ก่อนหน้าที่นายวรภัค จะถูกผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคาร KTB คือ กระทรวงการคลังมีประกาศิตให้เขาได้มีโอกาสเพียงแค่สมัยเดียว ไม่มีการต่ออายุ มีสัญญาณล่วงหน้าที่ชัดเจนว่า มีโอกาสสูงที่จะเกิด “คลื่นใต้น้ำ” เพื่อต้านความพยายามที่จะต่ออายุให้
ปลายเดือน พฤษภาคม ปี 58 มีการส่งข้อความแพร่กระจายในกลุ่มแอพพลิเคชั่นไลน์ มีเนื้อหาเชิญชวนให้พนักงานธนาคารกรุงไทย ที่สำนักงานใหญ่ นานา และสำนักงานใหญ่ อาคารสุขุมวิท แต่งชุดดำเมื่อวันที่25 พ.ค. 58 เพื่อกดดันการต่ออายุการทำงานสมัยต่อไปให้กับวรภัค แม้ว่าเรื่องนี้ สหภาพแรงงานธนาคารยืนยันต่อมาว่าไม่เกี่ยวข้องเรื่องดังกล่าวก็ตาม
ทันทีที่มีกระแสดังกล่าวเกิดขึ้น ก็มีการตอบโต้โดย “แหล่งข่าวไม่ประสงค์จะออกนาม” แต่ประสงค์จะโต้กระแสต่อต้าน และปกป้องวรภัคขึ้นมาว่า เป็นการกระทำของคน 2 กลุ่มที่ชักใยเบื้องหลัง นั่นคือ กลุ่มที่เสียประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์ และกลุ่มผู้บริหารที่ถูกลดตำแหน่งหรือลดบทบาทลงในช่วง 3 ปีเศษ
ทางด้านวรภัคเอง ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องตนเองว่า1) ไม่เคยปล่อยสินเชื่อ “ต้องห้าม” ให้นักการเมือง 2) NPLs ที่เพิ่มขึ้นของธนาคาร เป็นไปตามภาวะปกติของเศรษฐกิจ 3) การตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ เป็นตามเกณฑ์ปกติ ไม่ได้เพิ่มขึ้น 4) กรณีหนี้เน่า SSI เป็นเรื่องเกิดขึ้นก่อนสมัยตนเข้ามารับตำแหน่ง 5) กระบวนการแต่งตั้งผู้บริหาร มีความชัดเจนโปร่งใส และขึ้นกับความสามารถ ไม่มีเส้นสาย
ชี้แจงขนาดนี้แล้ว ยังไม่เป็นผล…. ไม่รู้เป็นเพราะเหตุผลโต้แย้งในข้อ 4) ไปสะเทือนซางใครบางคนที่สะดุ้งกับเงาของตนเองเข้าเหมาะเจาะเหมาะเหม็ง…. อันนี้ละไว้ในฐานที่ (ไม่) เข้าใจ…ละกัน
มาถึงยามนี้ โอกาสยื้อเก้าอี้ที่ KTB ของวรภัคจบลงไปแล้ว จากนี้ไปหลังครบวาระ ก็คงต้องไปตะลอนหาที่ลงใหม่ เหลือไว้แต่ตำนานที่มีแต่เจ้าตัวที่จะจำได้ และระลึกได้ ก็เท่านั้น
ข้อเท็จจริงเชิงตัวเลขที่น่าสนใจในยุคของวรภัค ….หากถือหรือติ๊งต่างว่า ตัวเลขไม่เคยโกหก แต่ความหมายของตัวเลข เปลี่ยนได้ทุกยุคสมัย เว้นแต่พวกติดแบรนด์ทั้งหลายที่เป็นคนกลุ่มน้อย จะเห็นว่า KTB ในยุคของวรภัค มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว
วรภัค ก่อนเข้ารับตำแหน่งใหญ่ใน KTB ตั้งแต่ปลายปี 2555 ผ่านงานในองค์การมาหลายแห่ง โชกโชนพอสมควร นับแต่ไอบีเอ็ม (ไอบีเอ็ม ประเทศไทย รุ่นเดียวกันกับนางศุภจี สุธรรมพันธุ์) ก่อนมาทำงานด้านวาณิชธนกิจยาวนานที่ บล.เจ พี มอร์แกน (ประเทศไทย) แล้วก็ย้ายไปทำงานสั้นๆ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์เพียงแค่ปีเศษ แล้วลาออกกะทันหันไปทำงานในฐานะเอ็มดีใหญ่ของ บล.ฟินันซ่า จำกัด
คนที่ตัดสินใจสุดท้ายให้ วรภัคเข้ามานั่งที่ KTB ภายหลังผ่านกระบวนการสรรหามาแล้ว ชื่อว่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง
หลังจากได้รับแต่งตั้งใน KTB วรภัค เคยเปรยกับคนใกล้ชิดวงในแคบๆ ว่า เสียวเหมือนกัน เพราะ เอ็มดีใหญ่ KTB นั้น มีเรื่องเดือดร้อน“คนเว้นคน” เสมอ เมื่อย้อนดูจากประวัติเก่าๆ
ในยุคของวรภัค KTB ที่มีสินทรัพย์สิ้นงวดปี 2555 ที่ 2.253 ล้านล้านบาท สามารถเติบโตมีสินทรัพย์เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ที่ระดับ 2.851 ล้านล้านบาท เติบโต 10% และรายได้ระยะเดียวกันก็เพิ่มจาก 1.21 แสนล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2555 มาเป็น 1.60 แสนล้านบาทในสิ้นงวดปี 2558 โต 18% ทีเดียว แต่น่าเสียดาย ที่กำไรวิ่งสวนทางลง เพราะว่า ความสามารถทำกำไรด้อยลงจากปัญหา NPLs ที่เพิ่มขึ้น
กำไรสุทธิงวดสิ้นปี 2555 อยู่ที่ 2.35 หมื่นล้านบาท กระโดดแรงในปี 2556 แล้วมาทรงตัวปี 2557 ก่อนจะถูกพิษหนี้เน่าของ SSI ดันกำไรถอยลงมาอยู่ที่ 2.84 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ยังมากกว่าสิ้นปี 2555 อยู่ดี
ที่สำคัญ อัตรากำไรสุทธิ ของ KTB ไม่เคยต่ำกว่า 17% เลย แม้ว่าจะเผชิญกับการตั้งสำรองที่สูงมากกว่าปกติ เพราะมี coverage ratio ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มมาก…. เป็นจุดอ่อนที่ยังแก้ไม่หาย
หากถือว่า ความสำเร็จของวรภัคคือการสร้างเสถียรภาพให้กับฐานะการเงินของ KTB เป็นจุดเด่น ความขัดแย้งที่วรภัคสร้างขึ้นมาจากความพยายามปรับองค์กร ด้วยการโปรโมต “คนนอก” เข้ามาแทรกตำแหน่งที่ “คนใน” รู้สึกไม่สบอารมณ์ ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงในด้านประสิทธิภาพของรายได้จากค่าธรรมเนียม และความกระฉับกระเฉงของการให้บริการลูกค้าที่ดีขึ้นจน “สัมผัสได้” ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น และไม่มีสาระอะไรเลย
ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน ไม่ได้อยู่ที่มีคนชม หรือสอพลอมากน้อยกว่ากัน…. ชิมิ ชิมิ??
เพียงแต่ต้องยอมรับกันว่า การจากกันของวรภัค กับ KTB…. ไม่สวยเท่าที่อยากสร้างภาพลักษณ์เอาไว้…. ก็เท่านั้น
ส่วนราคาหุ้น KTB จะร่อแร่หรือรุ่งเรืองในอนาคต ก็เป็นเรื่องของนักลงทุนเป็นสำคัญ
ไม่เกี่ยวว่าใครจะทิ้งบอมบ์ใคร
อิ อิ อิ