ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงิน 1 หมื่นลบ.ของ“TU”ที่ระดับ “AA-/Stable”
ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงิน 1 หมื่นลบ.ของ“TU”ที่ระดับ "AA-/Stable"
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ที่ระดับ “AA-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “AA-” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่”
ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่จะใช้ทดแทนอันดับเครดิตหุ้นกู้มูลค่าไม่เกิน 6,000 ล้านบาทที่ประกาศเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 เนื่องจากบริษัทปรับเพิ่มมูลค่าของหุ้นกู้ที่ออกจำหน่าย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนเงินกู้เดิมและใช้ลงทุนตามแผน
อันดับเครดิตของบริษัทยังคงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ระดับโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย ตลอดจนตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวของบริษัทถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ความเสี่ยงจากโรคระบาด ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้าและกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลก
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและความมีประสิทธิภาพในการผลิต โดยฐานการผลิตและตลาดส่งออกที่กระจายตัว อีกทั้งสินค้าที่หลากหลายน่าจะช่วยลดความผันผวนของกระแสรายได้ในช่วงที่ราคาสินค้าของบริษัทมีความผันผวนและมีความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าสินค้า
ทั้งนี้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะการเงินและสถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนลงกว่าที่คาดไว้จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดอ่อนแอลง
TU ก่อตั้งในปี 2520 โดยตระกูลจันศิริ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก สินค้าของบริษัทครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากปลาทูน่า กุ้ง ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในปี 2558 บริษัทมียอดขายจากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าคิดเป็น 37% ของยอดขายรวม กุ้งแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วนรายได้เป็นอันดับ 2 ของยอดขายรวม (29%) รองลงมาคือ ปลาแซลมอน (9%) อาหารสัตว์เลี้ยง (7%) ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล (6%) และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและอื่นๆ (12%)
บริษัทเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณการผลิตปลาทูน่าประมาณ 300,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 18% ของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าทั่วโลกจำนวน 1.7 ล้านตันต่อปี บริษัทมีฐานการผลิตใน 7 ประเทศใน 5 ทวีป โดยฐานการผลิตหลักตั้งอยู่ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา กาน่า และหมู่เกาะซีเชลส์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม ฝรั่งเศส และปาปัวนิวกินีด้วย ในปี 2558 ตลาดหลักของบริษัทคือประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 42% ของรายได้รวม รองลงมาคือสหภาพยุโรป 29% ประเทศไทย 8% และประเทศญี่ปุ่น 6%
ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2558 อยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าราคาปลาทูน่าและกุ้งจะตกต่ำลงและค่าเงินสกุลยูโรจะอ่อนตัวลงมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินบาท ในปี 2558 บริษัทมีรายได้เท่ากับ 125,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าด้วยสาเหตุหลักจากการซื้อกิจการ กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจปลาทูน่าและธุรกิจกุ้งในประเทศ นอกจากนี้ กำไรของบริษัทยังเพิ่มขึ้นจากความสำเร็จในการปรับโครงสร้างธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของบริษัทย่อยในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย แม้ว่าบริษัทมีรายการค่าใช้จ่ายพิเศษจากการตัดสำรองด้อยค่ากองเรือรวม 508 ล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ดีที่ 7.6% ในปี 2558 เทียบกับ 7.8% ในปี 2557 และ 5.5% ในปี 2556 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ในปี 2558 เท่ากับ 10,514 ล้านบาท เทียบกับ 10,715 ล้านบาทในปี 2557 และ 7,815 ล้านบาทในปี 2556
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 รายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 31,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยหลายประการ อาทิ ผลประกอบการที่ดีของธุรกิจปลาทูน่าที่ผลิตภายใต้ตราสินค้าในทวีปยุโรป ราคาปลาทูน่าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจรับจ้างผลิตปลาทูน่า ผลประกอบการของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ยังคงปรับตัวดีอย่างต่อเนื่อง และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการรวมกิจการของ Rugen Fisch AG เข้ามา นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วยเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินยูโร ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยบริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเท่ากับ 6.9% ในไตรมาสแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรจากธุรกิจปลาทูน่า กุ้ง และอาหารสัตว์เลี้ยง
ในเดือนธันวาคม 2558 บริษัทยกเลิกสัญญาการซื้อหุ้นของ Bumble Bee Foods, LLC (Bumble Bee) ตามที่บริษัทได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ว่าจะซื้อกิจการของ Bumble Bee จาก Lion Capital ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องได้รับอนุญาตการควบรวมกิจการภายใต้กฎหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศสหรัฐอเมริกาเสียก่อน การประกาศยกเลิกสัญญาการซื้อหุ้นดังกล่าวเกิดจากข้อสรุปของบริษัท และ Lion Capital ที่เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การได้รับอนุญาตจะใช้เวลานานเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายหุ้น
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ดีขึ้นส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 บริษัทมีหนี้สินรวม 36,094 ล้านบาท ลดลงจาก 46,534 ล้านบาทในปี 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจาก 49.5% ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 42.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 17.6% ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 21.5% ในปี 2558 และ 26.1% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจาหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็เพิ่มขึ้นจาก 6.4 เท่าในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 6.6 เท่าในปี 2558 และ 7.6 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2559
คาดว่าผลประกอบการของบริษัทในปี 2559 จะดีขึ้นแม้บริษัทอาจต้องเผชิญกับราคาปลาทูน่าที่ผันผวนและปัญหาโรคระบาดในปลาแซลมอน โดยผลกำไรของบริษัทจะได้รับแรงสนับสนุนจากผลประกอบการที่ดีของธุรกิจปลาทูน่าในตลาดสหภาพยุโรป การฟื้นตัวของธุรกิจกุ้งจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome — EMS) ที่ระบาดในประเทศไทย และความสำเร็จที่ต่อเนื่องในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ในช่วงปี 2559-2561 ภายใต้สมมติฐานกรณีฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 145,000-180,000 ล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับ 7.2%-7.5% กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 11,000-14,000 ล้านบาทต่อปี แม้ว่าบริษัทจะมีแผนการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็คาดว่าบริษัทจะรักษาวินัยทางการเงินและรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 50%
ประเด็นเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและปัญหาการค้ามนุษย์เป็นสิ่งท้าทายสำหรับธุรกิจอาหารทะเลของไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากคณะกรรมาธิการยุโรปเรื่องการไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งยังขาดการรายงานและไร้การควบคุมในการทำประมงตามหลักการสากล (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing — IUU) อีกด้วย หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ประเทศไทยอาจได้รับใบแดงซึ่งจะส่งผลในด้านลบต่อธุรกิจประมงของไทย เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่ โดยมูลค่าการส่งออกปลา กุ้ง ปลาหมึก และอาหารทะเลแปรรูปไปยังสหภาพยุโรปสูงถึง 28,000 ล้านบาทในปี 2557 และ 21,000 ล้านบาทในปี 2558 อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนักเนื่องจากบริษัทมียอดขายสินค้าส่งออกจากประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรปไม่เกิน 2% ของรายได้รวมของบริษัทเท่านั้น
เมื่อไม่นานนี้ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons (TIP) Report) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ปรับเพิ่มอันดับความพยายามตอบสนองต่อสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยจากระดับต่ำสุด เทียร์ 3 มาเป็น เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ถึงแม้การปรับลดอันดับเป็น เทียร์ 3 ในครั้งก่อนไม่ได้มีผลต่อการห้ามหรือจำกัดทางการค้า การปรับเพิ่มอันดับครั้งนี้จึงคาดว่าไม่ได้ส่งผลต่อการค้ามากนัก แต่อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มอันดับในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้ภาพพจน์ของธุรกิจอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์ประมงของประเทสไทยดีขึ้น