ฝ่าแนวต้านนโยบายข้าวพลวัต 2016
รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ของรัฐบาลนี้ ชื่อ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ที่หลายคนเกือบลืมไปแล้ว ปรากฏตัวมาพร้อมกับไอเดียบรรเจิดน่าสนใจ แม้ว่าจะไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ แต่ก็ต้องชมเชยกันพอสมควร
วิษณุ โชลิตกุล
รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ของรัฐบาลนี้ ชื่อ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ที่หลายคนเกือบลืมไปแล้ว ปรากฏตัวมาพร้อมกับไอเดียบรรเจิดน่าสนใจ แม้ว่าจะไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ แต่ก็ต้องชมเชยกันพอสมควร
อย่างน้อยก็ตอกย้ำข้อเท็จจริงว่าอดีตนายทหารระดับนายพลเอกนั้น ก็ยังมีสติปัญญาเข้าถึงแนวคิดนวัตกรรมทางด้านเศรษฐศาสตร์ได้
พลเอกฉัตรชัยระบุว่า กระทรวงเกษตรฯเตรียมการจะเสนอมาตรการปรับโครงสร้างการปลูกข้าว โดยการเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น และจ้างเลิกปลูกข้าว วงเงิน 10,000 ล้านบาท เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีปลายเดือน กรกฎาคมนี้ โดยมีรายละเอียดน่าสนใจคือ
–ให้ชาวนาในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1.8 ล้านไร่ งดปลูกข้าวนาปรังรอบ 2โดยจะเนื่องจากข้าวที่ได้คุณภาพไม่ดี และมีต้นทุนสูง โดยแนะนำให้ชาวนาปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหลากหลาย 0.30 ล้านไร่ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.50 ล้านไร่ ปลูกพืชปุ๋ยสด 0.50 ล้านไร่ และพลิกฟื้นผืนนาใต้ร่มพระบารมี 3.19 ล้านไร่ โดยกำหนดให้มีพื้นที่ทำนาปรังรอบแรกเดิมไม่เกิน 7.32 ล้านไร่ ให้ปรับเปลี่ยนอาชีพจำนวน 4.49 ล้านไร่
–กำหนดพื้นที่เพาะปลูกข้าวใหม่ เช่นภาคอีสาน ให้ทำนาได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งจะมีรายได้เฉลี่ยจากการทำนา ประมาณ 45,000 บาท/ครัวเรือน/ปี โดยสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือทำอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นเท่าตัวหรือเพิ่มขึ้น 45,000 บาท คิดเป็นเพิ่ม 100% เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 90,000 บาท/ครัวเรือน
–กระทรวงเกษตรฯจะเสนอขออนุมัติจาก ครม. เพื่อเอาเงินมาจ้างให้ชาวนาหยุดปลูกข้าว โดยจ่ายมากกว่า 1,000 บาทต่อไร่ต่อครัวเรือน ในช่วงฤดูการทำนาปรัง ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการของกระทรวงการคลังที่แจกเงิน 1,000 บาท/ไร่ในช่วงนาปี
แนวคิดของพลเอกฉัตรชัยที่แปลกใหม่นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการรีไซเคิลแนวคิดเดิมที่มีการนำร่องเสนอมาก่อนหน้าในหลายปีมานี้ เพื่อแก้ปัญหาเรื้อรัง 2 ด้านของไทยคือ 1) การแทรกแซงตลาดข้าวเรื้อรังจากผลผลิตล้นเกิน กว่า 65% แต่ละปี ที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่นในทุกระดับ 2) ราคาข้าวลักลั่นหลายราคาบิดเบือนพร้อมกัน คือ ราคาส่งออกข้าวสารต่ำติดพื้น (ราคาตลาดโลกที่รัฐบาลชาติส่งออกจ่ายชดเชย) และราคาข้าวเปลือกในประเทศสูงเกินจริง (ราคาอุดหนุนชาวนา) เพียงแต่ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะช่วงห่างของเจตนาอันดี กับผลลัพธ์ในการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ยากจะมาบรรจบกันได้
เหตุผลที่ข้อเสนอของพลเอกฉัตรชัยจะไม่บรรลุผลมีหลากหลายมาก เพราะเป็นแนวคิดที่ “ปะผุ” ไม่มี “บูรณาการของแผนยุทธศาสตร์ที่ครบถ้วนอย่างบูรณาการ” ซึ่งญี่ปุ่นเคยเป็นต้นแบบของความสำเร็จมาแล้วจนเป็นที่เลื่องลือ
เค้าโครงของนโยบายข้าวแห่งชาติญี่ปุ่น คือ 1) การขึ้นทะเบียนชาวนา 2) ปัญหาความซับซ้อนของชาวนาที่มีที่ดินเป็นของตนเอง (ห้ามบริษัทเอกชนขึ้นทะเบียน หรือเป็นเจ้าของที่นา) และ ชาวนาเช่าที่ดินทำ (จากเจ้าของที่นาซึ่งมีรายได้จากค่าเช่าที่ดิน) ไม่มีมากนัก 3) เชื่อมโยงนโยบายข้าวเข้ากับนโยบายความมั่นคงทางอาหารที่เปิดช่องให้ชาวนาได้รับโอกาสและสิทธิประโยชน์เหนือคนกลุ่มอื่นในสังคม กับนโยบายแบ่งเขตเลือกตั้งตามพื้นที่ (ไม่แบ่งตามจำนวนประชากร) จนทำให้ชาวนาถือเป็นอาชีพอภิสิทธิ์
นโยบายดังกล่าว ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นทำการผลิตข้าวได้มากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยไม่มีส่งออกเพื่อการค้าเลย โดยเมื่อรัฐบาลจะรับซื้อที่ข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวทั้งหมดในราคาสูงกว่าตลาดโลก 6 เท่า แล้วเอาไปกระจายขายเองทั่วประเทศในราคาแพง โดยรัฐบาลทำการโฆษณาชวนเชื่อ 2 ด้านพร้อมกัน คือ 1) รายจ่ายของราคาข้าวเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของแต่ละครัวเรือนในชีวิตประจำวัน 2) จูงใจให้คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ข้าวเมล็ดสั้นของญี่ปุ่นอร่อยกว่าข้าวที่นำเข้า
2 ทศวรรษที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นบริโภคข้าวเฉลี่ยลดลง จากวันละ 1 ถ้วย (150 กรัม) หรือปีละ 60 กิโลกรัมอย่างต่อเนื่อง โดยหันไปบริโภคข้าวสาลี นม ปลา และเนื้อ ทำให้รัฐบาลต้องนำมาตรการรองรับโดยการควบคุมผลผลิตข้าว โดยจูงใจให้ชาวนามีรายได้อย่างอื่นที่เหนือกว่าทำนา อาทิ ปลูกพืชทดแทน หรือหันไปทำงานหัตถกรรม หรือรายได้เสริมอื่นๆ
หนึ่งในกรรมวิธีที่ต้องงัดมาใช้คือ การจ่ายเงินกินเปล่าให้ชาวนาเลิกทำนาในปีที่คาดว่า ผลผลิตจะล้นเกินความต้องการ ทำให้ปัจจุบันชาวนาในญี่ปุ่นมีจำนวนเหลือแค่ 2.6 แสนคนเท่านั้น ที่เป็นชาวนาเต็มเวลา ส่วนที่เหลือ เป็น “ชาวนาพาร์ตไทม์” ทั้งสิ้น
นโยบายดังกล่าว เท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 4 ตัวพร้อมกันคือ 1) ทำให้นโยบายสร้างหลักประกันด้านอาหารของญี่ปุ่นลุล่วงไปได้ 2) ชาวนามีชีวิตที่ดีทัดเทียมคนอาชีพอื่นๆ 3) ผู้บริโภคก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับการรักษาอาชีพสงวน 4) ไม่ต้องกังวลกับราคาเหวี่ยงไปมาของตลาดข้าวโลก
มาตรการเลิกจ้างชาวนาปลูกข้าวนาปรังของพลเอกฉัตรชัยนั้น มีคำถามว่าจะแปลงเป็นการปฏิบัติได้อย่างไร หากต้อง 1) จดทะเบียนชาวนา เพื่อจำแนกชาวนาที่มีที่ดินเอง และชาวนาเช่าที่ดินทำ 2) การกำหนดพื้นที่ (โซนนิ่ง) ใช้ประโยชน์จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน 3) การเคลื่อนย้ายคนออกจากอาชีพ “ทำนา” ไปสู่อาชีพทางเลือกใหม่อื่นๆ จะราบรื่นเพียงใด เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ฐานะที่แท้จริงของชาวนาไทยปัจจุบัน ไม่ใช่เกษตรกรผู้น่าสงสาร เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เป็นนักลงทุนผู้ล้มเหลวในภาคเกษตร มากกว่า
เจตนาอันดีของพลเอกฉัตรชัยไม่ว่าจะมีจุดอ่อนแค่ไหน หรือ จะบรรลุผลมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ประเด็น เพราะหากบรรลุเป้าหมายเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ “ข้ออ้างเชิงมายาคติ” เรื่องการเป็นประเทศที่เป็นแชมป์ส่งออกข้าวของโลก มลายไปทันที