อาการออก! DTAC ขอประมูลใบอนุญาตก่อนสัมปทานหมดอายุ

อาการออก! DTAC ขอประมูลใบอนุญาตก่อนสัมปทานหมดอายุ


นายภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เสนอ 3 ข้อสาระสำคัญร่วมผลักดัน พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมรับเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลและการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่ายในชาติ

“ดีแทคได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อพรบ. จัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าผู้ใช้บริการ ภาครัฐ ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจจะร่วมเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในอนาคต” นายภารไดย กล่าว

ข้อเสนอที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ดีแทคนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณามี 3 ประเด็น คือ

ข้อ 1. การประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า (Early Auction) ดีแทคเสนอให้มีการประมูลคลื่นความถี่ก่อนที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง โดยให้ใบอนุญาตใหม่มีผลเริ่มต้นในวันที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจว่าจะสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดความกังวลเรื่องซิมดับ หากไม่มีการประมูลใบอนุญาตก่อนที่ใบอนุญาตเดิมจะสิ้นสุดลง การให้บริการลูกค้าที่ยังตกค้างในโครงข่ายจะเป็นการให้บริการตามมาตรการเยียวยาซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด และก่อให้เกิดปัญหาด้านการจัดการคลื่นความถี่ โครงข่าย และเกิดการฟ้องร้องต่างๆ ตามมาดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต อีกทั้ง หากมีการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า รัฐก็จะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่เร็วขึ้นซึ่งหมายถึงรายได้และดอกผลจำนวนมหาศาลที่รัฐจะได้รับจากเงินดังกล่าว

ข้อ 2. สนับสนุนให้มีการระบุชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Trading) ได้เหมือนกับหลักเกณฑ์สากล เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในขณะนี้กล่าวถึงเฉพาะการให้ร่วมใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Sharing) หรือให้เช่าใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Leasing) เท่านั้น การเพิ่มเรื่องการโอนใบอนุญาตจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในตลาดสามารถเข้ามาได้ทันที ไม่ต้องรอให้มีการจัดประมูลที่นานๆ จะเกิดขึ้น และยังลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการรายใหม่ในการทดลองเข้ามาแข่งขัน เพราะหากไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังโอนขายใบอนุญาตได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และยังทำให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการอยู่ต้องให้บริการที่ดีในราคาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มั่นใจว่าทำได้ดีกว่าเข้ามาแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี การให้โอนใบอนุญาตก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อไหร่โอนได้โอนไม่ได้ โดยเงื่อนไขต้องรัดกุม เช่น ต้องกำหนดเงื่อนไขป้องกันไม่ให้เกิดการเข้ามาขอรับใบอนุญาตเพื่อนำไปโอนขายหากำไรโดยไม่มีเจตนาประกอบการจริง เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันได้โดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์สากล

ข้อ 3. กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการจัดสรรคลื่นความถี่แต่ละคลื่น หรือที่เรียกว่าแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) โดยควรต้องประกาศใช้แผนดังกล่าวให้เร็วที่สุดภายหลังที่กฎหมายใหม่ประกาศใช้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีความต้องการคลื่นความถี่อีกจำนวนมากเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ นอกเหนือจากคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ในการประมูลที่ผ่านมา โดยจากการศึกษาของ ITU พบว่าความต้องการจำนวนคลื่นความถี่ของแต่ละประเทศในการใช้งานจะเพิ่มเป็นจำนวน 1340 MHz ถึง 1960 MHz ในปี 63 ในขณะที่วันนี้ประเทศไทยมีจำนวนคลื่นความถี่ในการใช้งานเพียง 320 MHz เท่านั้น

ดังนั้น จึงควรมีการจัดทำแผนแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) เพื่อเอาคลื่นความถี่มาประมูลให้มากขึ้น โดยควรกำหนดแผนไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยีและความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ

ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่มีต่อ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ดีแทคมุ่งที่จะเสนอเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อมุ่งสู่ประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่ายในประเทศ และรองรับการแข่งขันในภูมิภาคอีกด้วย

 

Back to top button