SET สัปดาห์นี้ลุ้นแตะ 1,550 จุด หลังผลประชามติฯผ่านฉลุย

SET สัปดาห์นี้ลุ้นแตะ 1,550 จุด หลังผลประชามติฯไม่เป็นทางการทั่วประเทศผ่านฉลุย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการนับคะแนนออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2559 มติเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศเห็นชอบกับทิศทางกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับใหม่ ผลคะแนนรวมประชามติทั้งประเทศ 95% เห็นชอบ 15,562,027 ราย ไม่เห็นชอบ 9,784,680 ราย ส่วนคำถามพ่วง ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ เห็นชอบ 13,969,594 ราย ไม่เห็นชอบ 10,070,599 ราย

ขณะที่กรุงเทพมหานคร จากผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 4,450,224 ราย มาใช้สิทธิ 2,294,285 ราย คิดเป็น 51.55% บัตรดี 2,258,578 ใบ บัตรเสีย 35,706 ใบ ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2559 ทั้งฉบับ ผลปรากฏว่าเห็นชอบ 1,538,476 ราย คิดเป็น 69.42% ไม่เห็นชอบ 677,582 ราย คิดเป็น 30.58% สำหรับประเด็นที่ 2 เห็นชอบ 1,440,027 ราย คิดเป็น 65.83% ไม่เห็นชอบ 747,408 ราย คิดเป็น 34.17% โดยเขตที่มีคนมาใช้สิทธิมากที่สุดคือ เขตทวีวัฒนา 59.52% เขตมาใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ เขตคลองเตย 42.5% โดยจำนวนผู้มาใช้สิทธิครั้งนี้ลดลงจากเดิม

 

ด้านนายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.บัวหลวง เปิดเผยถึงดัชนีหุ้นไทยวันที่ 8-11 ส.ค.นี้ จะยืนอยู่ในแดนบวกหรือลบ ขึ้นอยู่กับผลประชามติจากวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งดัชนีหุ้นไทยพร้อมจะบวกแรงจากแรงซื้อของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติกรณีที่มีการรับร่าง อย่างไรก็ตาม มองว่าดัชนีไม่น่าจะทำสูงสุดใหม่ หากดูจากสัญญาณเทคนิคดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 1,535-1,545 จุด 

“สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีแรงซื้อเก็งกำไรของนักลง ทุนที่คาดว่าผลประชามติวันที่ 7 ส.ค.นี้ จะรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคล้ายกับกรณีลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit ที่มีแรงซื้อเก็งกำไรก่อนจะรู้ผล ซึ่งมองว่าถ้ารับจริง หุ้นบวกต่อ ต่างชาติยิ่งซื้อ เพราะการเลือกตั้งมีโอกาสเกิดขึ้นตามโรดแมป” นายวิกิจกล่าว

ขณะที่บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ดัชนีหุ้นไทยช่วงวันที่ 8-11 ส.ค.นี้ คาดมีแนวรับที่ 1,475-1,500 จุด ส่วนแนวต้าน 1,530-1,550 จุด โดยปัจจัยสำคัญ คือ ผลการลงประชามติรัฐธรรม นูญของไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และยอดการขอสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลภาคการผลิตของจีน รวมทั้งคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่น

Back to top button