PSTC รุกธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งใน-ตปท. ตั้งเป้า COD โรงไฟฟ้าได้ 100MW ปีหน้า
PSTC รุกธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งใน-ตปท. ตั้งเป้า COD โรงไฟฟ้าได้ 100MW ในปี 61 และ COD 500MW ได้ในปี 65
นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนและจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)ได้ 100 เมกะวัตต์ในปี 61 ก่อนจะขยับเป็นระดับ 500 เมกะวัตต์ในปี 65 จากปัจจุบันที่มีใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือแล้ว 45.3 เมกะวัตต์ ขณะที่ภาครัฐบาลมีแผนจะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ภายในปี 79
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เตรียมเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กำลังการผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ในช่วงปีนี้ โดยบริษัทเตรียมเข้ายื่นในโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน จำนวน 3-5 โครงการ กำลังการผลิตโครงการละ 5-8 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดที่คาดว่าจะเปิดรับซื้อราว 100 เมกะวัตต์
รวมถึงการยื่นเสนอขอทำโครงการนำร่องเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) จำนวน 100 MW แบ่งเป็นพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้จะไม่มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้า โดยบริษัทจะเน้นการเข้ารับงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) และบางส่วนอาจจะเป็นการร่วมกับพันธมิตร ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานและขายไฟฟ้าให้กับโรงงานดังกล่าว
ส่วนการยื่นประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพทั่วประเทศ ที่คาดว่าจะมีการเปิดให้ขอใบอนุญาต PPA ทั้งหมด 400-500 เมกะวัตต์ บริษัทมีความมั่นใจว่าจะเข้าประมูลได้ไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ โดยเน้นโครงการที่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เนื่องจากมีผู้เล่นน้อยราย และบริษัทได้ผ่านงานเหล่านี้มาแล้วถือว่าค่อนข้างมีความชำนาญ
ทั้งนี้ในส่วนของโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลนั้น บริษัทก็ได้เริ่มทำมาบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตามยังต้องรอติดตามก่อนว่าจะลงทุนในพื้นที่ใดที่มีสายส่งมีศักยภาพรองรับ
นอกจากนี้ บริษัทยังจะเข้าประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะ 2 ที่กกพ.จะออกประกาศรับซื้อทั้งหมด 519 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ซึ่งบริษัทจะร่วมกันพันธมิตรทั้งจากมหาวิทยาลัย สหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานราชการต่าง ๆ เพื่อเข้าประมูลไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์
รวมถึงยังอยู่ระหว่างศึกษาการทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมด้วย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีกำลังการผลิตราว 50 เมกะวัตต์ โดยจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้
“แผนผมเองผมตั้งเป้าที่จะมีกำลังการผลิตไปถึง 500 เมกะวัตต์ในปี 65 ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงมาจากการขยายกำลังการผลิตในประเทศ เพราะภาครัฐบาลได้ออกมาบอกแล้วว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทำแทนไปถึง 19,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยังมีโอกาสอีกมากสำหรับเรา แต่อย่างไรก็ตามเราก็คงมีการขยายไปต่างประเทศด้วย ซึ่งเราคงไปมองในผลตอบแทน IRR มากกว่า ถ้าเหมาะสมเราก็คงออกไปมากขึ้น”นายพระนาย กล่าว