รฟม.ชงรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เข้าครม.เดือน ต.ค.นี้ หวังเปิดประมูลต้นปี 60
รฟม.ชงรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) เข้าครม.เดือน ต.ค.นี้ หวังเปิดประมูลต้นปี 60
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ได้เสนอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุนรวม 131,171.94 ล้านบาท ไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะเสนอเข้า ครม.ได้ในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลา 2 เดือนจัดทำราคากลางเสนอคณะกรรมการ รฟม.พิจารณา และน่าจะเปิดประมูลได้ต้นปี 60
นอกจากนี้ รฟม.ยังมีโครงการที่อยู่ในแผนปฎิบัติการ (Action Plan) ในปี 60 อีก 4 สาย คือ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ซึ่งเสนอกระทรวงคมนาคมไปแล้ว, สายสีเขียว ช่วงคูคต-ลำลูกกา, สายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปู อยู่ระหว่างปรับปรุงแบบให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับกายภาพที่เปลี่ยนไป โดยจะแล้วเสร็จปลายปี 59 และสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จะเสนอคณะกรรมการ รฟม.เพื่อขออนุมัติในเดือน ก.ย.นี้
ขณะนี้ที่ รฟม.อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร, สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 56,691 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 54,644 ล้านบาท โดยสายสีชมพูและสายสีเหลืองจะให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในวันที่ 7 พ.ย.59 และเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 17 พ.ย.59 คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน เม.ย.60 และเปิดให้บริการในปี 63
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีความก้าวหน้าโดยรวม 80.86% (ณ สิ้นเดือน ก.ค.59) โดยช่วงหัวลำโพง-บางแค คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 62 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 63, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีความก้าวหน้างานโยธา 90.85% (ณ สิ้นเดือน ก.ค.59) คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 61 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีความก้าวหน้างานโยธา 10.46% (ณ สิ้นเดือน ก.ค.59) คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 63
“การลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่ง รฟม.จะพัฒนาบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ส่วนที่มีผู้ดำเนินการและรับสัมปทานหลายรายทำให้ค่าโดยสารแยกออกจากกัน การพัฒนาระบบตั๋วร่วมที่เป็นรูปธรรมบูรณาการทุกสายจะทำให้อัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าในภาพรวมถูกลง เป็นประโยชน์ทั้งผู้เดินรถและประชาชน” นายพีระยุทธ กล่าว
นอกจากนี้ การพัฒนาพื้นที่สถานีและแนวสายทางในเชิงพาณิชย์จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรายได้ให้กับรถไฟฟ้า แต่ยังติดขัดข้อกฎหมายเวนคืนที่กำหนดวัตถุประสงค์ให้นำที่ดินเวนคืนมาใช้ในการก่อสร้างเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขอยู่ โดยจะนำแนวคิดการจัดรูปที่ดินเข้ามาใช้ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ถูกเวนคืนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินที่ถูกเวนคืน ทั้งนี้ รฟม.จะเริ่มใช้กับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตัววันออก) เป็นโครงการนำร่อง โดยการลงพื้นที่เจรจากับเจ้าของที่ดินตามแนวเขตทางที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี และเห็นด้วย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่าถูกเวนคืนเพียงอย่างเดียว