STA วางเรือใบ! ผู้ว่าฯยัน “มิชลิน-บริดจสโตน” ซื้อยางอีสานเหมือนเดิม
ผู้ว่าฯ กยท.ยืนยันชัดเจน "มิชลิน-บริดจสโตน" ยังรับซื้อยางพาราภาคอีสานเหมือนเดิม พร้อมทั้งมีการคาดการณ์ว่า STA ปล่อยข่าวเพื่อให้เกิดแรงกดดันต่อราคายางในตลาด
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น.ว่า บริษัทมิชลินยังไม่ได้มีการยกเลิกซื้อยางจากเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเนื่องจากปัญหาการใช้กรดซัลฟิวริกตามที่เป็นข่าว
โดยทางกยท. ได้เชิญบริษัทมิชลินและ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA มาร่วมประชุมในการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาผลผลิตทางการเกษตร ของ สนช. ซึ่งทาง กยท.ได้ชี้แจงถึงประเด็นต่างๆที่มีการให้ข้อมูลกันผ่านสื่อมวลชน ขณะเดียวกันทางมิชลินได้ยืนยันว่าไม่ยกเลิกการซื้อยางจากภาคอิสานอย่างแน่นอน
“ส่วนสารกรดซัลฟิวริกหรือกรดฟอร์มิก เป็นสิ่งที่ใช้กันมานานแล้ว ซึ่งเป็นกรดที่ทำให้ยางจับตัวกันเป็นยางก้อน เพื่อนำส่งและสามารถแปนรูปเป็นยางแท่งได้ ซึ่งกรดทั้ง 2 แบบ มีความจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากกรดซัลฟิวริกมีราคาถูก เพราฉะนั้นจึงทำให้เกษตรกรเลือกใช้กรดซันฟิวริก” นายธีธัช กล่าว
ซึ่งทางบริษัทมิชลินต้องการยางที่มีคุณภาพสูงตามหลักการใช้งาน จึงต้องใช้กรดฟอร์มิก แต่ในส่วนของยางที่ยังใช้กรดซัลฟิวริกก็ยังมีคนอื่นที่รับซื้ออยู่ เพราะว่าผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่ล้อยางก็สามารถนำยางแท่งไปแปรรูปได้
“ข่าวดังกล่าวที่ออกมา มาจากผู้บริหารของ STA ซึ่งเขาอาจจะแสดงความห่วงใยแต่จังหวะเวลามันอาจจะไม่เหมาะไปสักนิดนึง เนื่องจากว่าเป็นจังหวะเวลาที่ราคาของยางกำลังไต่ระดับขึ้น ซึ่งจริงๆการให้ข่าวควรเป็นการให้ข่าวผ่านทางสมาคมยางพาราไทย หรือการให้ข่าวผ่านทางหน่วยงานที่เป็นภาครัฐมากกว่า เพราะบางครั้งผลผลิตเรื่องยางพาราเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อราคามาก จึงก่อให้เกิดความไม่สบายใจในกลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิต แต่ทางผู้บริหารของ STA ก็ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการออกมาให้ข้อมูลว่า ไม่ได้แบน แต่ใช้คำว่า รณรงค์” นายธีธัช กล่าว
ทั้งนี้ มิชลินยืนยันว่า การสร้างโรงงานยางทางภาคอิสานยังไม่ได้มีแผนในเรื่องนี้ เนื่องจากมีโรงงานผลิตอยู่แล้ว 6 แห่ง ทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันก็เพียงพอและครอบคลุมต่อการผลิตอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน กยท.อยากรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาผลิตยางที่มีคุณภาพดีมากขึ้น เพื่อขายในราคาที่ดีขึ้น และตลาดอุตสาหกรรมก็จะสามารถพัฒนาขึ้นไปได้อีก
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เป็นผู้ออกมาให้ข่าว กรณีบริษัทยางรถยนต์ขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ มิชลิน และ บริดจสโตน ประกาศหยุดรับซื้อยางพาราจากทางภาคอีสานของประเทศไทย เนื่องจากมีการตรวจพบการผสมกรดซัลฟิวริกในน้ำยางเพื่อให้เกิดการจับตัว อีกทั้งบริษัททั้ง 2 แห่งได้พับแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยางแท่ง มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว พบว่า การออกมาให้ข่าวในลักษณะดังกล่าวของทางผู้บริหาร STA ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในวงกว้าง รวมถึงตั้งเป็นข้อสังเกตว่า คำให้สัมภาษณ์ของ นายวีรสิทธิ์ ออกมาในลักษณะของการปล่อยข่าวหรือไม่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดแรงกดดันต่อราคายางในตลาด ซึ่ง STA มีสถานะเป็นบริษัทรับซื้อ-ขาย (Trader) ในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว