พรุ่งนี้รู้เรื่อง! ก.ล.ต.นัดสมาคมโบรกฯถก พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่

พรุ่งนี้รู้เรื่อง! ก.ล.ต.นัดสมาคมโบรกฯถก พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่


นายปริย เตชมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.) ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เชิญตัวแทนจากสำนักงาน ก.ล.ต.ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน

ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต.ก็จะใช้โอกาสดังกล่าวชี้แจงอธิบายทำความเข้าใจถึงหลักการของกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งเพื่อให้มีการทำงานได้อย่างถูกต้อง

“ก็คงเอาหลักการของกฎหมายไปเล่าให้ฟัง และประเด็นที่สำคัญต่างๆ เราก็ต้องทยอยสื่อสารกับ Stakeholder ที่เกี่ยวข้อง ให้ทั่วถึง และตอบคำถาม”นายปริย กล่าว

ขณะที่นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาทางสมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้มีการพานักวิเคราะห์ไปพบเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำบทวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ ซึ่งทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือการทำบทวิเคราะห์ ให้กับนักวิเคราะห์คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวทางการทำบทวิเคราะห์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก เป็นเพียงการปรับปรุงให้มีความถูกต้องมากขึ้น เช่น การเผยแพร่ข้อมูลที่จะต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน และมีปัจจัยสนับสนุน, การลงโทษกรณีใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์) เป็นต้น แต่การทำงานของนักวิเคราะห์ก็ยังคงเหมือนเดิม

“ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการทำมาตรการ ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วเราก็พานักวิเคราะห์ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายใหม่นี้ ในแนวทางการทำบทวิเคราะห์ ให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ใหม่ ก็จะมีเรื่องของข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อมูลภายในที่ไม่ควรใช้ แต่แนวทางการทำงานก็ยังเหมือนเดิม”นายไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย แสดงความเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ เพราะเชื่อว่าไม่ได้ทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำบทวิเคราะห์ยากขึ้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะกรณีของการจัดทำบทวิเคราะห์ของ บล.กสิกร ได้ทำตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต.อยู่แล้ว

“ที่ผ่านมาเราก็ทำตามกฎ ก.ล.ต. อยู่แล้ว และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็พูดคุยกับ ก.ล.ต. มาตลอด ซึ่งการทำบทวิเคราะห์เราก็ทำอยู่บนพื้นฐานที่แท้จริง และตราบไดที่เรายังอยู่บนพื้นฐานนี้อยู่ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งเรามองว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ทุกคนมาอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นการจัดการปัญหาที่ต้นเหตุและลดผลกระทบจากการชี้นำที่มากเกินไป จากการกระทำของผู้ไม่มีใบอนุญาต และมีการชี้นำ”นายกวี กล่าว

ด้านนายรณกฤต สารินวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป มองว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้อาจจะส่งผลทำให้มีบทวิเคราะห์หลักทรัพยออกมาน้อยลง เนื่องจากโดยปกติแล้วการจะทำบทวิเคราะห์นั้นนักวิเคราะห์จะต้องพูดคุยกับผู้บริหารหรือเข้าไปทำ Company visit  เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ หลังจากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้รับมาประกอบกับประสบการณ์ในการวิเคราะราคาพื้นฐานของแต่ละบริษัท

แต่ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ กำหนดไว้ว่าข้อมูลทุกอย่างจะต้องมีการแจ้งตลาดก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้ได้ หรือนำมาเขียนได้ ซึ่งในตลาดหุ้นไทยมีบริษัทจดทะเบียนอยู่กว่า 600 บริษัท และในแต่ละวันมีการแจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์น้อยมาก ส่งผลให้แนวโน้มบทวิเคราะห์คงจะมีแนวโน้มที่ลดลง

“ก่อนหน้านี้เป็น 10 ปีแล้ว เราใช้การพูดคุยกับผู้บริหาร ใช้การเข้าไป Company visit และข่าวสารจากหน้าหนังสือพิมพ์ ประกอบกับประสบการณ์ของเรามาวิเคราะห์หาพื้นฐานการเติบโต ราคาเหมาะสม แต่หลังจากนี้เราจะทำได้ยากขึ้นเพราะข้อมูลที่ได้รับมาต้องมาตรวจสอบก่อนว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่ และรอข้อมูลที่แจ้ง ตลท. แล้วเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วต่อวันบริษัทจดทะเบียนแจ้งข้อมูลต่างๆมาน้อยมาก เราจึงมองว่าบทวิเคราะห์ที่ออกมาคงจะน้อยลง”นายรณกฤต กล่าว

ดังนั้น จึงขอเสนอ ก.ล.ต.ให้สามารถนำข้อมูลจากการเข้าไปทำ Company visit หรือจากการโทรเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารที่มีที่มาที่ไปชัดเจน และแหล่งข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์นำมาใช้ประกอบในบทวิเคราะห์ได้

ส่วน นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคระห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า นักวิเคราะห์ยังมีความกังวลเกี่ยวกับขอบเขตของการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์หรือเผยแพร่ อย่างเช่นข้อมูลจากการเข้าไปทำ Company visit ซึ่งทาง บล.ทิสโก้ เข้าไปทำเพียงรายเดียวแล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้ ถือว่าผิดหรือไม่

ทั้งนี้ ในช่วงแรก ๆ อาจจะส่งผลให้ภาพรวมบทวิเคราะห์หุ้นต่างๆออกมาน้อยลง แต่ระยะยาวหากมีความชัดเจนของกฎเกณฑ์ต่างๆแล้ว เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มมาตรฐานบทวิเคราะห์หรือการเผยแพร่ของสื่อต่างๆที่ดีขึ้น

“เบื้องต้นเรากังวลเพียงเรื่องของขอบเขตการใช้ข้อมูลว่าเป็นอย่างไร เพราะว่าตอนนี้ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ ซึ่งช่วงแรกอาจจะทำให้บทวิเคราะห์น้อยลง แต่ระยะยาวเราเชื่อว่าจะเป็นการยกระดับมาตรฐานของการข่าวสารต่างๆ มากขึ้น”นายอภิชาติ กล่าว

 

 

               

 

Back to top button