KSL ลั่นกำไรงวดปี 59/60 โต 15-20% ดัน “ขอนแก่นแอลกอฮอล์” เข้า SET ปี 60
KSL ลั่นกำไรงวดปี 59/60 โต 15-20% ดัน "ขอนแก่นแอลกอฮอล์" เข้า SET ปี 60
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า กำไรสุทธิในปี 58/59 (พ.ย.58-ต.ค.59) คาดจะใกล้เคียงปีก่อน แม้รายได้จะลดลงราว 10% ตามธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าที่ยังไม่ค่อยดี แต่ผลประกอบการของธุรกิจน้ำตาลยังทรงตัว ประกอบกับ บริษัทอาจจะบันทึกรายการพิเศษเพิ่มเติมในช่วงไตรมาสสุดท้าย
ทั้งนี้ งวดปีที่แล้ว KSL มีกำไรสุทธิ 815.39 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 1.89 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกงวดปี 58/59 มีกำไรสุทธิ 615.27 โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 1.22 หมื่นล้านบาท
นายชลัช คาดว่ารายได้ปี 58/59 น่าจะลดลงราว 10% จากปีที่แล้ว หลัก ๆ มาจากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลที่ยังไม่ค่อยดี โดยธุรกิจไฟฟ้ามีราคาขายไฟลดลงตามสูตร และการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่เกือบ 3 เดือน มากกว่าภาวะปกติ ส่วนราคาเอทานอลลดลงจากการถูกกดราคาขายหลังราคาน้ำมันปรับตัวลง ขณะที่ธุรกิจน้ำตาล แม้จะมีปริมาณน้ำตาลลดลงไปราว 10% จากผลภัยแล้ง แต่ราคาน้ำตาลก็ปรับขึ้นมาราว 10% อยู่ที่กว่า 16 เซนต์/ปอนด์ ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจน้ำตาลยังคงทรงตัว
ส่วนในงวดปี 59/60 (พ.ย.59-ต.ค.60) คาดว่ากำไรจะเติบโตจากปีนี้ ตามรายได้ที่คาดว่าจะเติบโต 15-20% โดยธุรกิจน้ำตาลคาดว่าจะเติบโตราว 20% แม้ปริมาณอ้อยเข้าหีบอาจทรงตัวที่ 7.4 ล้านตันเป็นผลจากภาวะภัยแล้งต่อเนื่อง แต่คาดว่าราคาน้ำตาลจะปรับขึ้นราว 30% ช่วยหนุนรายได้ ส่วนธุรกิจไฟฟ้าคาดว่าการเดินเครื่องผลิตน่าจะกลับมาเป็นปกติหลังแก้ปัญหาเสร็จสิ้นไปแล้ว และราคาขายไฟฟ้าไม่น่าจะต่ำกว่าปัจจุบันมากนัก ขณะที่ธุรกิจเอทานอล คาดว่าปริมาณและราคาขายน่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันเริ่มมีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่เข้ามาในช่วงไตรมาส 4 นี้แล้ว
นอกจากนี้ ในงวดปีหน้าผลประกอบการของธุรกิจน้ำตาลในลาวและกัมพูชา ยังมีแนวโน้มจะสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังมองโอกาสในการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจน้ำตาลทั้งสองประเทศ แต่ก็ไม่ได้เร่งรีบมากนัก
ทั้งนี้ KSL คาดว่าสัดส่วนกำไรในปีหน้าจะมาจากธุรกิจน้ำตาลเพิ่มเป็น 40% จาก 30% ในปีนี้ ,ธุรกิจไฟฟ้าลงเหลือ 40% จาก 50% ในปีนี้ และธุรกิจเอทานอล ทรงตัวอยู่ระดับ 20% เช่นเดิม
นายชลัช กล่าวว่า ราคาน้ำตาลเริ่มเป็นช่วงขาขึ้นในช่วงปี 59-60 หลังจากเคยปรับลงไปต่ำถึง 11 เซนต์/ปอนด์ในช่วง 2-3 ปีก่อน หลังสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดต่ำลงจากภาวะภัยแล้งรุนแรงก่อนหน้านี้ ทำให้ปริมาณอ้อยลดลง โดยเฉพาะในอินเดียที่ผลผลิตหายไปจำนวนมากจนอาจไม่มีการส่งออกและต้องนำเข้าทดแทน ประกอบกับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของจีน ทำให้เกิดภาวะขาดดุลน้ำตาล จนทำให้ราคาน้ำตาลเริ่มทยอยปรับขึ้นมาในปีนี้
แต่คาดว่าในปี 60 ผลประกอบการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลจะดีกว่าปีนี้แต่ไม่มากนัก เพราะปริมาณอ้อยที่ปลูกได้ในปีนี้เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลในปีหน้านั้นยังคงมีอยู่น้อยจากภัยแล้ง แต่ในปีถัดไปน่าจะนับได้ว่าเป็นปีทองของอุตสาหกรรมทั้งในด้านราคาและปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นหลังปริมาณฝนมีมาก
ส่วนการลงทุนของบริษัทในช่วงนี้จะเป็นการลงทุราว 3.6 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงงานในจ.เลย โดยจะเป็นการขยายทั้งในส่วนของโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้า ซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปี 60 โดยโรงงานน้ำตาลจะขยายกำลังการผลิตเป็น 34,000 ตันอ้อย/วัน จากเดิมที่ 18,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าเพิ่มเป็น 75 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ 40 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน KSL มีโรงงานน้ำตาล 5 แห่ง ตั้งอยู่ในจ.ขอนแก่น,เลย ,กาญจนบุรี และชลบุรี มีกำลังการผลิตน้ำตาลรวม 1.2 แสนตันอ้อย/วัน ขณะที่มีโรงไฟฟ้าในทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ประมาณ 60-70% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจะใช้ในโรงงานน้ำตาล ขณะที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าคงเหลือก็จะขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในลักษณะสัญญา non-firm ซึ่งจะจำหน่ายไฟฟ้าในช่วงฤดูหีบอ้อยเท่านั้น มีเพียงโรงไฟฟ้าในจ.ขอนแก่น ที่มีการขายไฟฟ้าให้กฟภ.เป็นสัญญา firm เท่านั้น
ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตชีวมวลที่รัฐบาลเตรียมจะเปิดประมูลรับซื้อทั่วประเทศ เป็นการทั่วไปในเร็ว ๆ นี้หลังล่าสุดได้เปิดรับซื้อเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว เนื่องจากบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าคงเหลือจากการใช้ในโรงงานน้ำตาลเพื่อเสนอขายไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าว โดยไม่ได้จะเข้าไปร่วมประมูลจัดตั้งโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อขายไฟฟ้าแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังมีโรงงานผลิตเอทานอล 2 แห่ง ในนามของบริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด โดยโรงงานตั้งอยู่ใน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขนาด 1.5 แสนลิตร/วัน และมีแผนจะขยายกำลังการผลิตอีก 2 แสนลิตร/วัน ส่วนโรงงานอีก 1 แห่ง ตั้งอยู่ในอ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ขนาด 3 แสนลิตร/วัน แต่ปัจจุบันมีการผลิตเพียง 2 แสนลิตร/วัน ตามขนาดเครื่องจักร รวมถึงยังมีวัตถุดิบไม่เพียงพอรองรับการผลิต แต่ในอนาคตหากตลาดมีความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้น ก็สามารถติดตั้งเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตได้เต็มที่ 3 แสนลิตร/วันได้
นายชลัช กล่าวว่า สำหรับการขยายกำลังการผลิตโรงงานเอทานอลในจ.ขอนแก่น อีก 2 แสนลิตร/วันนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หากผ่านก็จะเริ่มดำเนินการได้ต้นปี 60 แล้วเสร็จประมาณปลายปี โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาทจากการกระจายหุ้น บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนพ.ค.60 โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับแผนการลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มนั้น บริษัทยังคงให้ความสนใจอยู่แต่ไม่เร่งรีบ โดยมองราคาในตลาดที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นโอกาสการเข้าซื้อกิจการด้วย