ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยเกษตรกรรายย่อย แจกเงินเข้าบัญชี-ลดภาระหนี้

ครม.ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย แจกเงินเข้าบัญชี-ลดภาระหนี้ หวังให้เกษตรกรลดรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีวิต


นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะดำเนินการ 2 มาตรการหลัก คือ 1.มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ระหว่างวันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค.59 ที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานราชการแล้ว โดย ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรโดยตรงให้แก่ผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3,000 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.51 ล้านคน และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 1,500 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.34 ล้านคน รวมผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 2.85 ล้านคน ใช้งบประมาณ 6,540 ล้านบาท

2.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส.เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของเกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกรให้กลับมาทำการผลิตต่อไปได้และสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทให้เข้ามาทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและคืนดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่ชำระดี กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรลูกค้ารายย่อยที่มีหนี้สินต้นเงินกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท จำนวนประมาณ 2,897,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 334,525 ล้านบาท ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.59-31 มี.ค.61 จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

2.1 โครงการปลดเปลื้องหนี้สินให้เกษตรกรรายย่อยที่มีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น และมีหนี้ค้างชำระหรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใน 2 กรณี ได้แก่ 1) หากไม่มีหลักประกันจำนองและไม่มีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ มีเกษตรกรเป้าหมายประมาณ 50,000 ราย 2) หากมีหลักประกันจำนองและมีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ทายาท โดยนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ 5 ปี พักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ MRR = 7% หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 85,000 ราย

2.2 โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้สินให้เกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนัก มีหนี้ค้างชำระหรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะดำเนินโครงการใน 2 กรณี ได้แก่

1) หากเป็นเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีทายาทเข้าเป็นลูกค้าแทน จะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ MRR หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 80% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 200,000 ราย

2) กรณีเกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนัก จะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงิน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ MRR หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 50% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 340,000 ราย

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเกษตรกรและทายาทได้รับการช่วยเหลือด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้ตามโครงการจำนวน 675,000 ราย จำนวนดอกเบี้ยที่ลดให้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง

2.3 โครงการชำระดีมีคืนแก่เกษตรกรที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยในส่วนที่ลูกค้าส่งชำระระหว่างวันที่ 1 พ.ย.59-31 ต.ค.60 ในอัตราร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้ลูกค้ามาลดภาระหนี้โดยตัดเงินต้นให้ลูกค้าในกรณีที่มีหนี้คงเหลือ และคืนให้ลูกค้าเป็นเงินสดในกรณีที่ไม่มีหนี้คงเหลือ และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนกรณีฉุกเฉินจำเป็น (A-Cash) รายละไม่เกิน 100,000 บาท วงเงิน 50,000 ล้านบาท เกษตรกรเป้าหมาย 2,222,000 ราย หนี้สินจำนวน 272,000 ล้านบาท

“ธ.ก.ส.เล็งเห็นว่าที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตทางการเกษตรผันผวน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้ง มีเกษตรกรบางรายเสียชีวิต เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือมีอายุมาก ทำให้ศักยภาพในการทำการเกษตรลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยตามนโยบายของรัฐบาล

ซึ่งการช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้นนั้นเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับสถาบันการเงินโดยทั่วไป ส่งผลให้เกษตรกรลดรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการการเงินของ ธ.ก.ส. และในระยะยาวกลับจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.จากการที่มีทายาทมารับช่วงทำการเกษตรต่อเนื่อง”นายลักษณ์ กล่าว

Back to top button