“สมคิด” คาดประมูลรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง พ.ย.นี้
"สมคิด" เริ่งเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง พ.ย.นี้ จากเดิมคาดประมูลเดือน ต.ค. พร้อมเร่งรถไฟทางคู่ระยะที่สอง 7 เส้นทาง เริ่มเปิดดำเนินการปีใน 60
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังร่วมประชุมกับคณะกรรมการและผู้บริหาร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), รมว.คลัง, กรมธนารักษ์, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) เช้าวันนี้ว่า รฟท.มีภารกิจสำคัญคือการเร่งเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะแรก 7 เส้นทาง ระยะทาง 995 กม. ซึ่งกำลังก่อสร้าง 2 เส้นทางที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
โครงการที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม.ให้ดำเนินการ 2 เส้นทางล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์นี้ คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางจิระ และ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร คงจะเปิดประมูลได้ในเดือน พ.ย. จากก่อนหน้านี้ นายออมสิน ชีวพฤกษ์ รมช.คมนาคม คาดว่า 2 เส้นทางนี้จะเปิดประมูลได้ในเดือน ต.ค.
นายสมคิด กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดประมูล เนื่องจากรอการปรับปรุงร่างทีโออาร์เพื่อเปิดกว้างมากขึ้นและบรรจุเรื่องสัญญาคุณธรรมเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งขณะนี้ร่างทีโออาร์ใกล้จะแล้วเสร็จ น่าจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟท.ได้ในช่วงกลางเดือน ต.ค.59 จากนั้นจะจัดตั้งคณะกรรมการประมูลที่จะมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นเข้ามาร่วมด้วย
นอกจากนี้ ยังสั่งให้เร่งโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ที่มี 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,493 กม.ให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 60 โดยให้เส้นทางที่ครอบคลุมทางเหนือและใต้ให้ดำเนินการก่อน ได้แก่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงของ วงเงินลงทุน 7.7 หมื่นล้านบาท และเส้นทางบ้านไผ่-นครพนม เงินลงทุน 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะนำเสนอ ครม.ในต้นปี 60
“รถไฟทางคู่เป็นรถไฟขนส่งสินค้าที่มาช่วยเรื่องโลจิสติกส์ การเชื่อมโยงได้ดีขึ้น ให้การรถไฟฯ โฟกัสและพยายามเปิดให้บริการให้ได้ในปีหน้า” นายสมคิด กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เรื่องถัดไปที่ รฟท.ต้องเร่งดำเนินการ คือ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และส่วนต่อขยายในอนาคต โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนภายใต้แผน PPP เพื่อทำให้สามารถดำเนินโครงการได้เร็ว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP ได้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ- ระยอง และ กรุงเทพ-หัวหิน โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพ-ระยองจะเข้ามาสนับสนุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (ECC) และ กรุงเทพ-หัวหิน จะเป็นเส้นทางนำร่องเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อไปถึงประเทศมาเลเซีย
นายสมคิด เปิดเผยว่า ในระหว่างการหารือได้มอบหมายให้ สคร.ทำแผนยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ซึ่ง รฟท.จะต้องทำแผนระยะยาว หรือแผนแม่บทระยะ 10-15 ปีของ รฟท. เน้นเรื่องงบการเงิน เนื่องจากแม้ว่า รฟท.จะมีสินทรัพย์อยู่ถึง 6 แสนล้านบาท แต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์หรือก่อเกิดรายได้ที่คุ้มค่า ทั้งที่พื้นที่ของ รฟท.หลายแปลงอยู่ Prime Area ขณะเดียวกัน รฟท.มีผลขาดทุนสะสมถึง 8 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น จึง รฟท.ต้องเพิ่มศักยภาพการบริการสินทรัพย์ รวมทั้งพิจารณาการเดินรถเพิ่มเติม โดยมองว่าเฉพาะรายได้จากการเดินรถคงไม่เพียงพอ จึงต้องมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาด้วย ซึ่ง รฟท.ต้องพิจารณาอัตราค่าเช่าที่ดินใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้งกับทะเลที่ตั้งในเขตพื้นที่ Prime Area ซึ่งอาจจะบริหารเองหรือเปิดให้เอกชนมาบริหาร แต่จะไม่มีการขายสินทรัพย์ออกไป นอกจากนี้ จะต้องเน้นการบริหารจัดการพื้นที่รอบสถานีด้วย
“รถไฟฯต้องมี Master Plan 10-15 ปี มีการประมาณการ การทำให้งบการเงินแข็งแรง มีรายได้มากกว่ารายจ่าย บริหารที่ดิน… คิดว้าทำแผนแม่บทไม่น่าจะนาน”นายสมคิด กล่าว
รวมทั้งแนะนำให้ รฟท.ร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) สร้างที่อยู่ให้ชุมชนที่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟ และหารือกับกรมธนารักษ์ด้วยเพื่อทำ CSR