PTTGC แจมด้วยคน! เตรียมดันบ.ลูก “GGC” เข้า SET

PTTGC แจมด้วยคน! เตรียมดันบ.ลูก "GGC" เข้า SET


บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า บริษัทจะนำ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล เป็นบริษัทแกนนำของธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Flagship Company) ของกลุ่มบริษัท ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตเมทิลเอสเทอร์ รายใหญ่ที่สุด และเป็นผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์เพียงรายเดียวในประเทศนั้น ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) แล้วในวันนี้

ขณะที่บริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นของ GGC ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากบริษัทอาจจะพิจารณาเสนอขายหุ้นที่ถืออยู่ใน GGC ต่อประชาชนในคราวเดียวกันกับ IPO ของ GGC ด้วย อย่างไรก็ตามบริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอำนาจควบคุมใน GGC ภายหลัง IPO ครั้งนี้       

สำหรับแบบเสนอขายหุ้นของ GGC ที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า GGC จะขายหุ้น IPO ไม่เกิน 411.11 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท  แบ่งเป็น หุ้นเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 246.67 ล้านหุ้น หรือราว 25% ของหุ้นทั้งหมด และหุ้นสามัญเดิมของ PTTGC จำนวนไม่เกิน 164.44 ล้านหุ้น หรือราว 16.67% ของหุ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ การที่ PTTGC จะขายหุ้นเดิมหรือไม่ หรือปริมาณของหุ้นเดิมที่ขายโดย PTTGC จะเป็นจำนวนเท่าใดนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ตามที่ PTTGC เห็นสมควร

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) นั้น หุ้นส่วนเกินดังกล่าวจะมีจำนวนไม่เกิน 15% ของหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ หรือไม่เกิน 61.67 ล้านหุ้น ส่วนการกำหนดราคาขาย IPO จะกำหนดร่วมกันโดยสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Bookbuilding)  โดยมีบล.ภัทร และบล.ฟินันซ่า เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

สำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้เงินระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้ในโครงการเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 ในช่วงปี 60-62 ,โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ในช่วงปี 60-63 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินลงทุนในโครงการในอนาคต ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 60-62 ด้วย

ในอนาคต PTTGC มีนโยบายที่จะรวมธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมของ PTTGC เข้าไปอยู่ภายใต้ GGC รวมถึงพิจารณาการขยายกิจการ หรือการลงทุนในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมของ PTTGC ร่วมกันกับบริษัทในฐานะบริษัทแกนนำของธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ GGC เป็นผู้ดำเนินการขยายกิจการหรือการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวในอนาคต

ในปีที่ผ่านมา GGC ผลิตเมทิลเอสเทอร์ หรือไบโอดีเซล (B100) เพื่อนำไปผสมในน้ำมันดีเซล คิดเป็นสัดส่วน 24.9% ของเมทิลเอสเทอร์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ ส่วนแฟตตี้แอลกอฮอล์ จะถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมหลักในการผลิตเครื่องสำอาง สารลดแรงตึงผิว และเภสัชภัณฑ์ต่าง ๆ โดยมีลูกค้ารายใหญ่อยู่ในเครือบมจ.ปตท. (PTT)

ปีที่ผ่านมา GGC มีรายได้รวม 1.45 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 904.9 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีรายได้รวม 9.18 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 614.8 ล้านบาท

PTTGC ระบุในเอกสารที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มเติมว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ GGC ครั้งนี้จะไม่มีการให้สิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญก่อน (Pre-emptive Rights) แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นบริษัทจะได้รับผลกระทบจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไร (Earning Dillution) เพียง 2.94% ในกรณีที่บริษัทนำหุ้นออกมาขายพร้อม IPO และ 1.76% ในกรณีที่บริษัทไม่ร่วมเสนอขายหุ้นพร้อม IPO โดยทั้ง 2 กรณีตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ไม่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินจาก GGC

ก่อนการขายหุ้น IPO ครั้งนี้ PTTGC มีสัดส่วนการถือหุ้นใน GGC มากกว่า 99.99% และหลังการขาย IPO ในกรณีที่ PTTGC ขายหุ้นออกพร้อมกับ IPO  จะทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นลดเหลือ 58.33-54.90% และหากไม่ขายหุ้นออกมาพร้อมกับ IPO จะมีสัดส่วนถือหุ้นเหลือ 75-72.29% โดยบริษัทยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีอำนาจควบคุมใน GGC ภายหลัง IPO ครั้งนี้

โดยการนำหุ้น GGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น บริษัทจะถูกห้ามขายหุ้น GGC ที่ถืออยู่จำนวน 55% หลัง IPO เป็นผลให้ต้องคงสัดส่วนไม่น้อยกว่า 55% หลัง IPO อย่างไรก็ดีบริษัทจะสามารถทยอยขายหุ้นได้ในอัตราส่วนไม่เกิน 25% ของหุ้นที่ถูกห้ามขาย เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ บริษัทอาจมีการตกลงกับผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายในการห้ามขายหุ้น GGC ที่ถืออยู่ภายหลัง IPO เป็นการเพิ่มเติมต่อไป

นอกจากนี้จากการเสนอขายหุ้นของ GGC ในส่วนที่บริษัทถืออยู่ไม่เกิน 164.44 ล้านหุ้นต่อประชาชนนั้น บริษัทอาจพิจารณาขายหุ้นจำนวนดังกล่าวทั้งหมด หรือแต่บางส่วนให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (PP) ซึ่งอาจเป็นหรือไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท ในราคาเดียวกันกับราคา IPO ได้ ซึ่งการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงดังกล่าวนั้น อาจจะเป็นการเสนอขายนอกกระบวนการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน ทั้งนี้ การที่บริษัทจะเสนอขายหุ้นเดิมหรือไม่ หรือปริมาณของหุ้นเดิมที่เสนอขายโดยบริษัทจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ตามที่บริษัทเห็นสมควร

Back to top button