“ก.ล.ต.” เฮียริ่ง CG Code-I Code ยกระดับบรรษัทภิบาล-หนุน “ไทยแลนด์ 4.0”
“ก.ล.ต.” เฮียริ่ง CG Code-I Code ยกระดับบรรษัทภิบาล-หนุน "ไทยแลนด์ 4.0"
นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บจ.ไทยมีพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนจนประสบความสำเร็จด้วยดี ในระยะต่อไป ก.ล.ต.มุ่งยกระดับการบริหารกิจการที่ดีและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของ บจ.ให้ประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงการสร้างคุณค่าให้กิจการควบคู่ไปกับสังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และสามารถปรับตัวได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ก.ล.ต.อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นเพื่อออกหลักการบริหารกิจการที่ดี (CG Code) ใหม่สำหรับ บจ.ซึ่งเป็นหลักการบริหารกิจการที่เน้นการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่มีบทบาทเป็นผู้นำที่รับผิดชอบต่อการบริหารกิจการที่ดี เริ่มตั้งแต่
1) การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หลักการของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน โดยคำนึงถึงคุณค่าร่วมกันทั้งลูกค้า ความถนัดความพร้อมของบริษัท รวมทั้งสภาพแวดล้อมและสังคม
2) การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยการเสริมสร้างคณะกรรมการที่จะเอื้อให้บรรลุวัตถุประสงค์ การสรรหาและดูแลโครงสร้างการบริหารบุคลากร ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และ 3) การติดตามและเปิดเผยข้อมูล โดยดูแลให้มีระบบควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม การรักษาความลับและความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น
ทางด้านผู้ลงทุน ก.ล.ต.ก็อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) ที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนสถาบันจัดการลงทุนอย่างรับผิดชอบ เพื่อประโยชน์ของกองทุนและผู้ลงทุนในระยะยาว ซึ่งการที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวได้ ผู้ลงทุนสถาบันจะต้องลงทุนในกิจการที่มีบรรษัทภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคม และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลตอบแทนในระยะยาว ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การวางนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่ชัดเจน การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การติดตามการดำเนินงาน และการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามการลงทุนได้
หลักปฏิบัติทั้ง 2 เรื่องเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ลงทุน ภาคธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม เติบโตได้อย่างยั่งยืน สำหรับภาคธุรกิจ การที่ บจ. มีผลประกอบการที่ดีและคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่จะสร้างผลตอบแทนและความยั่งยืนให้แก่ บจ. เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ลงทุนในทุกระดับ สังคม และประเทศชาติไปสู่การพัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0.” ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการบริหารประเทศบนวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
ขณะนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง CG Code และ I Code ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th/hearing) จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2559