LPH จ่อซื้อหุ้น รพ.ย่านพัฒนาการ หลังล้มดีลซื้อ “รพ.เดชา”
LPH เผยถึงแม้ดีล รพ.เดชาจะล่มแต่ทางโรงพยาบาลลาดพร้าวก็ไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบ เพราะเงินที่นำมาลงทุนส่วนหนึ่งเป็นเงินที่มาขากการขาย IPO โดย ณ ตอนนี้ทางโรงพยาบาลลาดพร้าวได้ จ่อซื้อหุ้น รพ.ย่านพัฒนาการ หลังล้มดีลดังกล่าว
ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ว่า ถึงแม้ดีลโรงพยาบาลเดชาและดีลที่สมุทรปราการล่มไปนั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบเนื่องจากอยู่ในแผนการลงทุนของโรงพยาบาลลาดพร้าว ซึ่งได้เงินจาก IPO มาส่วนหนึ่ง โดยได้จัดงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับในส่วนนี้ไว้แล้ว ขณะเดียวกันไม่ได้มีเฉพาะโรงพยาบาลเดชาที่สนใจ แต่ยังมีโรงพยาบาลอื่นๆที่สนใจอีกซึ่งก็กำลังดำเนินไปตามขั้นตอน
“อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ก็ได้มองดูโรงพยาบาลอื่นเช่นกัน โดยโรงพยาบาลแถวพัฒนาการก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เราสนใจ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีผลกำไร ซึ่งเจ้าของเองก็พร้อมที่จะให้เราเข้าไปร่วมธุรกิจครับ” ดร.อังกูร กล่าว
ขณะที่โรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา ตอนนี้ก็ได้ยื่นขอสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าประมาณกลางปีจะได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีในการก่อสร้าง และคาดว่าประมาณปี 62 จะเปิดดำเนินการได้
ส่วนศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ตอนนี้อยู่ในระหว่างติดตั้งงานระบบอุปโภคและระบบไอที คาดว่าปลายปีนี้คงแล้วเสร็จบางส่วน และจะเปิดดำเนินการในช่วงไตรมาส 1/60 โดยคาดว่าปีหน้ารายได้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% ตามที่ตั้งเป้าไว้
ส่วนในเรื่องของโรงพยาบาลเดชา และโรงพยาบาลเปาโลที่ยกเลิกประกันสังคมนั้น ทางโรงพยาบาลลาดพร้าวก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ในการยกเลิกประกันสังคมของโรงพยาบาลดังกล่าว เนื่องจากว่าโรงพยาบาลลาดพร้าวมีผู้ประกันสังคมเต็มตามจำนวนที่ทางประกันสังคมกำหนดอยู่แล้ว โดยรายได้ประกันสังคมอยู่ที่ประมาณ 45% ของทั้งหมด
โดยหลังจากที่โรงพยาบาลสร้างอาคารความเป็นเลิศทางการแพทย์แล้วเสร็จ จะส่งผลให้มีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นประมาณ 30 เตียง ซึ่งคาดว่าหากในปีหน้ามีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของสำนักงานประกันสังคมบางส่วน อาจจะมีการขอเพิ่มจำนวนประกันสังคม
ซึ่งรายได้ในส่วนนี้ไม่ถึงกับสร้างประโยชน์ให้โรงพยาบาลได้แบบก้าวกระโดด เนื่องจากลักษณะทำเลที่ตั้งของโรงพยาบาลอยู่ในกลุ่มของธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ประกันตนส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม White-collar ทำให้ผู้ประกันตนมีสิทธิในเรื่องของสวัสดิการและประกันอยู่จำนวนหนึ่ง