ก.ล.ต. ชี้ “พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯใหม่” ไม่กระทบสื่อน้ำดี!

ก.ล.ต. ชี้ "พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯใหม่" ไม่กระทบสื่อน้ำดี!


นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยผ่านรายการ ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ถึงกรณีในส่วนของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่

จุดประสงค์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้เกิดความเท่าเทียมในแง่ของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความหมายการตีความตรงนี้เป็นเช่นไรบ้างในแง่ของความเท่าเทียม

“จริงๆหลักเรื่องความเท่าเทียมจากข้อมูลของตลาดทุนเป็นหลักการที่มีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว กฎหมายปัจจุบันก็จะต้องมีเขียนอย่างครอบคลุมเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะว่าเป็นหลักพื้นฐาน ผู้ลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดทุนควรมีสิทธิ์ที่จะได้ในการรับรู้ข้อมูลที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ข้อมูลเป็นพิเศษกว่ากลุ่มอื่น เพราะว่าถ้าเมื่อใดก็ตามที่ได้ข้อมูลที่พิเศษว่าคนอื่นเขา ก็อาจจะเอาข้อมูลอันนั้นไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจซื้อขาย

ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนกลุ่มอื่นที่เขาไมได้รับทราบข้อมูลอันนี้เสียเปรียบ และเป็นหลักพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกฎหมายใหม่ในพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่นี้มีเหมือนเสริมขึ้นมา และเขียนให้ครอบคลุมเทียบเท่ากับมาตรฐานสากลให้มากขึ้นครับ”

มีบรรทัดฐานหรือว่ากรอบที่จะกำหนดไหมว่าอะไรที่จะทำให้ข้อมูลมันเท่าเทียมกัน จะต้องผ่านช่องทางไหนให้สังคมได้รับรู้กันทั่วถึง

“ก็คงมีได้หลายจุดครับ ต้องเรียนย้ำว่าข้อมูลที่เราพูดถึงจะเป็นข้อมูลลักษณะที่สำคัญและเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับราคา และที่สำคัญคือเป็นข้อมูลที่ยังไมได้เปิดเผยในวงกว้าง อันนี้ก็จะเข้านิยามของข้อมูลภายใน ซึ่งเป็นหลักในกฎหมายปัจจุบันอยู่แล้ว ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มีการเกี่ยวข้องกับเรื่องข้อมูลภายใน ตลาดทุนที่มีมาตารฐานแล้วเขาก็ต้องมีกลไกให้เจ้าของข้อมูลมีการเปิดเผยข้อมูลสู่วงกว้างพร้อมๆกัน”

โดยข้อมูลที่จะเปิดเผยมี 2 ส่วน ส่วนนึงคือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ อีกส่วนนึงคือข้อมูลผ่านสื่อ ซึ่งตีความได้ไหมว่าการเผยข้อมูลผ่านสื่อถือเป็นข้อมูลสาธารณะแล้ว

“ถ้าเราพูดถึงเรื่องข้อมูลภายในอันนี้ก็ต้องใช้ความระมัดระวังในแง่ของคนครอบครองข้อมูล ถ้าเป็นตัวบริษัทมีข้อมูลภายในก็มีทางเลือกว่าต้องเก็บข้อมูลนั้นเป็นความลับไว้ หรือว่าถ้าถึงจุดที่จะเปิดเผยออกมาก็ต้องเปิดเผยอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งผ่านทางระบบของตลาดหลักทรัพย์”

ถ้าสมมุติว่า มี 1 บจ.กำลังจะเข้าไปเซ็นสัญญาเพื่อเข้าไปซื้อหุ้นของอีก 1 บริษัท ใน 1 เดือนต่อจากนี้ แล้วมีการนำข้อมูลนี้มาเผยแพร่กับทางสื่อมวลชนและมีการนำเสนอเผยแพร่ไปจากทางหน้าหนังสือพิมพ์ ตรงนี้ถือว่าข้อมูลเป็นสาธารณะแล้วหรือเปล่า

“อันนี้คงต้องดูเป็น 2 ส่วนนะครับ ส่วนนึงคือต้นตอของข้อมูลของคนที่มีข้อมูล การที่เขาเอาข้อมูลภายในอันนั้นออกมาพูด ก็ต้องเช็คก่อนว่าอันนั้นเป็นข้อมูลที่เขาเปิดเผยทั่วไปหรือยัง ถ้าเขามาเปิดเผยกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ อันนี้ก็อาจจะเข้าข่ายมีความผิดได้ในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลภายใน และในส่วนของคนที่เอาข้อมูลไปใช้กรณีนี้เป็นเรื่องของสื่อมวลชนก็ต้องขอสื่อมวลชนใช้ความระมัดระวังสักนิดนึง

อาจจะต้องตรวจสอบก่อนว่าข้อมูลที่ตัวเองได้มาเป็นข้อมูลภายในอยู่หรือเปล่าหรือว่าเป็นข้อมูลที่บริษัทเขาได้เผยแพร่อย่างเท่าเทียมกันผ่านระบบของทางตลาดฯเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องขอให้สื่อช่วยระมัดระวังตรงนี้ด้วยนะครับ อย่างไรก็ดีเราก็ดูไปที่หลักของเจตนา ถ้าสื่อที่ทำหน้าที่อย่างถูกต้องมีจรรยาบรรณอยู่แล้ว และไม่ทราบจริงๆว่าข้อมูลนั้นยังไมได้มีการเปิดเผยโดยทั่วไป อันนี้คิดว่าก็คงไม่ได้สุ่มเสี่ยงที่จะต้องรับผิดครับ

อย่างกรณีเดินสวนกับผู้บริหาร สื่อแว่วๆข่าวมาว่าจะมีดีลเกิดขึ้น ถามผู้บริหารและผู้บริหารอาจจะมีหลุดอะไรมาบ้างด้วยเทคนิคของสื่อ ตรงนี้จะถือว่าเป็นความผิดไหมถ้าสื่อเอามาตีพิมพ์ให้ออกมาเป็นวงกว้างให้เป็นสาธารณะอย่างแท้จริง

“เรื่องนี้คงต้องขอสื่อช่วยระมัดระวังนิดนึงนะครับ เพราะว่าถ้าเป็นข้อมูลภายในผมว่าก็ไม่ควรพยายามที่จะดึงมาให้เราทราบอยู่คนเดียวและนำไปใช้ต่อ อันนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้อง ก็ต้องระมัดระวังนิดนึงนะครับจากข้อมูลที่ได้มาหรือจากการทำหน้าที่ ว่าอันนั้นเป็นข้อมูลภายในอยู่หรือเปล่า แต่อย่างที่บอกทั้งหมดนี้กลับมาที่หลักพื้นฐานของกฎหมายก็คือหลักของเจตนา ถ้าไม่ได้มีเจตนาแล้วก็ทำตามขอบเขตจรรยาบรรณของสื่ออยู่แล้ว อันนี้ก็ไม่ได้เข้าข่ายครับ

 

หรือดูย้อนหลังได้ที่นี่

Back to top button