FER ทุ่ม 550 ลบ. ซื้อกิจการ “สตาร์ แก๊ส” ลุยธุรกิจ LPG

FER ทุ่ม 550 ลบ. ซื้อกิจการ "สตาร์ แก๊ส" ผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนนายหน้าในการจัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดดำเนินการเสร็จ Q1/60


บริษัทเฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) หรือ FER ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 18 พ.ย. อนุมัติให้เข้าลงทุนซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท สตาร์ แก๊ส จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเป็นตัวแทนนายหน้าในการจัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในราคาไม่เกิน 550 ล้านบาท ซึ่งจะชำระราคาซื้อขายเป็นเงินสด คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/60

ทั้งนี้ สตาร์ แก๊ส เป็นตัวแทนนายหน้าในการจัดจำหน่ายแก๊ส LPG ระหว่างคู่ค้ามาตรา 7 กับกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นสถานีบริการ LPG ทั่วประเทศ รวมถึงยังให้บริการแก๊ส LPG สำหรับยานยนต์แบบค้าปลีกภายในสถานีบริการของตนเอง ภายใต้ตราสินค้า”ช้าง”รวมถึงให้เช่าพื้นที่ภายในสถานีกับผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น ธุรกิจทำความสะอาดรถยนต์ ,จำหน่ายกาแฟ และจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด

โดย ล่าสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.59 สตาร์ แก๊ส มีสถานีให้บริการแก๊ส LPG สำหรับยานยนต์ 16 สาขา โดยภายใต้เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดในสัญญาซื้อขายหุ้นระบุว่า สตาร์ แก๊ส จะต้องได้มาซึ่งสถานีบริการแก๊ส LPG เพิ่มเติมอีก 14 สาขา ส่งผลให้ ณ วันทำธุรกรรมการซื้อสินทรัพย์สตาร์ แก๊ส จะมีสถานีบริการแก๊ส LPG เป็นจำนวนรวมทั้งหมด 30 สาขา

นอกจากนี้สตาร์ แก๊ส มีบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อาร์.เอ.โลจิสติคส์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งแก๊ส LPG จากคลังของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงหรือคู่ค้ามาตรา 7 มายังสถานีให้บริการแก๊ส LPG โดยมีรถขนส่งแก๊ส LPG จำนวน 18 คัน และบริษัท ธวัชภิญโญ จำกัด ประกอบธุรกิจสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ภายใต้สัญญาบริหารแบบที่ 3 กับบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งปตท.เป็นผู้ลงทุนในสถานี และรับผิดชอบในต้นทุนสินค้าทั้งหมด ขณะที่ ธวัชภิญโญ จะได้รับรายได้จากปตท.ในรูปแบบอัตราต่อจำนวนกิโลกรัมที่จำหน่ายได้ ซึ่งจัดเป็นรายได้ค่าบริหารสถานี และรายได้จากากรใช้ประโยชน์จากที่ดิน

ทั้งนี้ FER เชื่อว่าการลงทุนในสตาร์ แก๊ส จะส่งเสริมให้บริษัทและผู้ถือหุ้นได้รับประโยชน์จากการเข้าลงทุนในธุรกิจการเป็นตัวแทนนายหน้าในการจัดจำหน่ายแก๊ส LPG ระหว่างผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นสถานีบริการ LPG ทั่วประเทศ อีกทั้งยังเป็นการขยายลักษณะการดำเนินธุรกิจไปยังกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้และอัตราการทำกำไรและกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ช่วยกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจากการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทที่จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วน (RO) และกระแสเงินสดภายในของบริษัท

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ยังอนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนโดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกจำหน่าย หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.44 พันล้านบาท จากเดิมที่ 1.44 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 1.44 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท จัดสรรไม่เกิน 759.2 ล้านหุ้น ขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 1 บาท พร้อมให้ฟรีใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ รุ่นที่ 2 (FER-W2) ที่จะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสัดส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ โดยวอร์แรนต์มีอายุ 2 ปี และมีราคาใช้สิทธิ 1.25 บาท/หุ้น อัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้น  ทั้งนี้ จะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 379.6 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิของ FER-W2 ด้วย

ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 300 ล้านหุ้น จะเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ได้แก่ นายธราธิป ธาราธรรมรัตน์ ,นางสาวนภัทสนันท์ วงศ์ธนินยา และนายเชาวรัตน์ เวศม์ภิญโญ ในราคาหุ้นละ 1 บาท โดยการขายให้แก่ PP ครั้งนี้นับเป็นการขายให้แก่นักลงทุนที่เป็น strategic investors ที่มีความสามารถในการให้ทุน ประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในธุรกิจและคำแนะนำต่าง ๆ ในการดำเนินงานของธุรกิจจัดจำหน่าย LPG บริษัทยังคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความรู้ความชำนาญทางธุรกิจ การขยายเครือข่ายทางธุรกิจ และ synergies จากนักลงทุนรายใหม่ได้ 

Back to top button