SUPER เล็งตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 1.2-1.8 หมื่นล้าน
SUPER เล็งตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 1.2-1.8 หมื่นลบ. เตรียมดันบริษัทลูก "ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี" เข้าตลาดหุ้นปีหน้า
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 1.2-1.8 หมื่นล้านบาท โดยใช้รายได้ในอนาคตของโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาด 100-200 เมกะวัตต์ (MW) เป็นทรัพย์สินในการระดมทุน รวมถึงมีแผนจะนำบริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SSE) ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงปี 60 เพื่อระดมทุนรองรับการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพิ่มอีกราว 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท และจะส่งผลให้บริษัทมี PPA ในมือครบ 2 พันเมกะวัตต์ในปี 60 ตามเป้าหมาย
โดยปัจจุบันบริษัทมีสัญญา PPA ในมือแล้ว 780 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 1 พันเมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้นั้น อาจจะมีความล่าช้าออกไปอีก 1-2 เดือน หลังบริษัทต้องการปิดความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นปีนี้จะมี PPA ในมือเกือบ 900 เมกะวัตต์เท่านั้น โดย PPA ใหม่ที่จะเข้ามาจะมาจากโครงการโซลาร์ฟาร์มในจีนและญี่ปุ่นบางส่วน
“เราคิดว่าปลายปีเราน่าจะได้ 800 กว่าเกือบ 900 เมกะวัตต์ ส่วนที่ว่า delay ไม่ได้ delay ทั้งหมด น่าจะประมาณ 100 กว่าเมกะวัตต์ที่ delay ไปในเดือนกุมภาฯ ปีที่แล้วเราก็ delay ไป 4 เดือนตอน COD ถามว่า performance ก็ยังเป็นไปตามที่เราต้องการ…การที่ delay เพราะเราต้องการปิดความเสี่ยงทุกด้านเพราะต่างประเทศปัจจัยต่าง ๆ ไม่เหมือนเมืองไทย”นายจอมทรัพย์ กล่าว
โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่อง (COD) แล้ว 675 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ทั้งหมด และจะมีกำลังผลิตที่เตรียม COD ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกเกือบ 70 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ในไตรมาส 4/59 มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกราว 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่โครงการโซลาร์ฟาร์มเกือบทั้งหมดเป็นโครงการที่ได้รับอัตราค่าไฟฟ้า Feed-in Tariff (FiT) ที่ 5.66 บาท/หน่วย ระยะเวลา 25 ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้คงที่ตลอดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยตามปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่สร้างรายได้ให้บริษัทกว่า 1.2 พันล้านบาท/ไตรมาส หรือกว่า 5 พันล้านบาท/ปี และสร้างกำไรได้ราว 400 ล้านบาท/ไตรมาส
ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้วเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จากธนาคารกรุงเทพ (BBL) จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจาก supplier credit และส่วนทุน โดยปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่ถึง 2 เท่า ขณะที่ในปีหน้ามีแผนที่จะเพิ่ม PPA ในมือให้ได้ตามเป้าหมาย 2 พันเมกะวัตต์นั้น ทำให้มีความจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มเติมทั้งจากการนำบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน
“เราเตรียมแผน ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจากกรรมการและผู้ถือหุ้นก่อน โดยเรามี plan จะ spin off ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ ในปีหน้าและเราก็ plan ที่จะตั้ง infrastructure fund โดยเป็นการทยอยเข้า ยกตัวอย่าง ถ้าวันนี้กองทุน infrastructure fund เราเอาเข้าไป 100 เมกะวัตต์ จะได้เงินกลับคืนมา คือเอารายได้ล่วงหน้าขึ้นมาประมาณ 1.2-1.8 หมื่นล้านบาท แล้วแต่ yield ที่ให้ในขณะนั้น เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยไม่คงที่ ตรงส่วนนี้ก็มา re-invest ได้ จากวันนี้ SUPER ไม่มีนโยบายการเพิ่มทุน เพราะเงินที่จะได้จาก IPO บริษัทลูก และ infrastructure”นายจอมทรัพย์ กล่าว
สำหรับแผนการนำบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นและการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะดำเนินการควบคู่กันไป โดยในส่วนของกองทุนได้หารือร่วมกับ BBL ซึ่งเป็นธนาคารผู้ให้กู้หลักของบริษัท โดยคาดว่าหากระดมทุนจากกองทุนในวงเงิน 1.2-1.8 หมื่นล้านบาท ก็จะเพียงพอที่จะหากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ได้ราว 800 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นก็มีแผนที่จะขยายกองทุนให้เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เพื่อรองรับการใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาด้วย
โดยบริษัทมองโอกาสการเติบโตจากต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลียเป็นหลัก ซึ่งมีโอกาสการเติบโตมากกว่าจากภายในประเทศ โดยการลงทุนของบริษัทจะเน้นในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ ,พลังงานลม และขยะ เป็นหลัก ซึ่งในปลายปีนี้คาดว่าจะทยอยปิดดีลโซลาร์ฟาร์มในจีนและญี่ปุ่นได้บางส่วน จากที่กำลังพิจารณาลงทุนในจีนราว 100 เมกะวัตต์ และญี่ปุ่นที่มีบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) แล้ว 300 เมกะวัตต์ และกำลังทำดีลเพิ่มอีก 150 เมกะวัตต์
ส่วนโครงการในประเทศนอกเหนือจากโซลาร์ฟาร์มแล้ว บริษัทยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ในจ.สระแก้ว ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับ PPA และมีสัญญาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 61 รวมถึงมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในจ.เพชรบุรี ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับ PPA แล้ว ขณะที่มองโอกาสเข้าร่วมประมูลผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ที่ภาครัฐเตรียมจะเปิดรับซื้อในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งบริษัทมีที่ดินพร้อมรองรับดำเนินการในจ.สมุทรปราการ ,พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี กำลังการผลิตแห่งละ 9.9 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของจ.ปทุมธานี มีโอกาสทำได้มากถึง 30 เมกะวัตต์เพราะมีปริมาณขยะจำนวนมาก ซึ่งการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน จะใช้เงินลงทุนราว 120-130 ล้านบาท/เมกะวัตต์
นอกจากนี้บริษัทยังได้ศึกษาและวัดลม เพื่อเตรียมยื่นข้อเสนอขอ PPA สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 9 โครงการ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะเปิดออกมาในช่วงไตรมาส 2/60 รวมถึงยังจับมือกับพันธมิตร เพื่อเตรียมเข้ายื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อในเร็วๆ นี้ด้วย โดยปัจจุบันบริษัทยังมีผลขาดทุนสะสมอยู่ราว 1 พันล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะใช้กำไรมาล้าง เพราะปัจจุบันบริษัทสามารถทำกำไรได้ในทุกไตรมาส