TAE ปักธงรายได้ปี 60 โต 6% ตามปริมาณผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น

TAE ปักธงรายได้ปี 60 โต 6% ตามปริมาณผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น120 ล้านลิตร จากปีนี้ 107 ล้านลิตร เผยอยู่ระหว่างศึกษาการผลิตเอทานอลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิง


นายสมชาย โล่ห์วิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TAE เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานงานในปีนี้ บริษัทจะพยายามทำกำไรให้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 244.27 ล้านบาท ถึงแม้ 9 เดือนแรกปีนี้จะมีกำไรสุทธิเพียง 168.5 ล้านบาท ลดลง 21.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมียอดขายจะยังอยู่ระดับสูงแต่มาร์จิ้นลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำกดดันให้ราคาเอทานอลปรับลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมในปี 60 จะเติบโต 5-6% จากราว 2,500 ล้านบาทปีนี้ ตามปริมาณการผลิตเอทานอลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านลิตร จากปีนี้ที่ราว 107 ล้านลิตร แต่ในด้านราคาขายอาจจะยังต่ำตามทิศทางราคาน้ำมันที่ยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

ขณะที่มาร์จิ้นยังถูกกดดันจากต้นทุนโมลาสที่สูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามในปีหน้าบริษัทวางแผนจะใช้โมลาสราว 60% ซึ่งได้มีการซื้อบางส่วนไว้แล้ว เพราะโมลาสจะเปิดขายปีละแค่ 2 ครั้งช่วงก่อนหีบอ้อยและระหว่างหีบอ้อย ส่วนที่เหลืออีก 40% คงจะซื้อมันเส้นเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล เพราะสามารถซื้อได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเอทานอล

ราคาขายพูดยาก เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ ขณะที่ต้นทุนปี 60 จะสูงกว่าปีนี้ เนื่องจากราคาโมลาสปรับสูงขึ้นทำให้ปี 60 เราก็จะหันไปใช้วัตถุดิบทั้งโมลาสและมันสำปะหลัง (มันเส้น) ผสมกัน เนื่องจากโมลาสแพงขึ้น โดยปีนี้ต้นทุนโมลาสเฉลี่ยซื้อที่ 4,800-4,900 บาท/ตัน จากปีก่อนหน้าเฉลี่ย 4,500 บาท/ตัน และปี 60 ราคาโมลาสอาจจะสูงขึ้นไปแตะ 5,000 บาท/ตัน เพราะโมลาสตึงตัว จากปัญหาฝนมาช้า คุณภาพโมลาสมีปัญหาด้วยผลผลิตอ้อยลดลง จึงจะหันไปใช้มันเส้นแทน ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่จะใช้มันเส้นเป็นวัตถุดิบ”นายสมชาย กล่าว

สำหรับราคาขายเอทานอลจะขึ้นอยู่กับต้นทุนวัตถุดิบเป็นหลัก ซึ่งปกติบริษัทจะสามารถขายเอทานอลได้ราคากว่า 24 บาท/ลิตร สูงกว่าตลาดที่อยู่ระดับ 20-21 บาท/ลิตร แต่เนื่องจากตลาดขณะนี้เป็นของผู้ซื้อ ซึ่งหากราคาขายของบริษัทจะถูกปรับลดลง 0.30-0.40 บาท/ลิตรก็ยอมรับได้เพราะยังมีมาร์จิ้นอยู่บ้าง โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้บริษัทมีราคาขายเอทานอลเฉลี่ย 23.80 บาท/ลิตร ต่ำกว่าระดับ 24-25 บาท/ลิตรในช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานเอทานอล 2 สายการผลิต กำลังการผลิตรวม 365,000 ลิตร/วัน ซึ่งในปี 60 น่าจะสามารถรองรับการผลิตได้เต็มที่แล้ว ทำให้โอกาสขยายการผลิตเพิ่มขึ้นมีอีกไม่มากนัก ซึ่งสอดคล้องนโยบายบริษัทที่จะพยายามรักษาปริมาณขายพร้อม ๆ กับพยายามลดต้นทุนการผลิตด้วย โดยในปีหน้าบริษัทยังไม่มีลงทุนชัดเจน แต่ก็จะมีการปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานเป็นหลัก

สำหรับนโยบายของภาครัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนใช้มีการเอทานอลมากขึ้นด้วยการจะยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ในปี 61 ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการใช้ E20 ที่มีเอทานอลผสมในสัดส่วน 20% ของน้ำมันเบนซิน ก็จะทำให้เกิดการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นโดยกระทรวงพลังงานคาดปีหน้าความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ 4.2 ล้านลิตร/วัน จาก 3.8 ล้านลิตร/วันในช่วงต้นปีนี้  แต่ช่วงนี้มีข่าวว่าปริมาณเอทานอลขาดแคลนเพราะโรงงานหลายแห่งปิดซ่อมบำรุงช่วงปลายปีหลายแห่งพร้อมกัน

ปี 60 เราไม่ได้กังวลอะไร ทุกอย่างน่าจะนิ่งๆ จะเห็น growth อีกทีก็ถ้านโยบายรัฐจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ถ้ายกเลิกจริงก็ต้องใช้เอทานอลมากขึ้น ส่งผลดีต่ออุตฯเอทานอล และผลการดำเนินงานของบริษัท แต่แนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ยังคงมีความผันผวนและยังอยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาขายเอทานอลและกำไรสุทธิของบริษัทในอนาคต ทำให้บริษัทกำหนดนโยบายเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพของการผลิตเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ของวัตถุดิบทางเลือกประเภทอื่นๆ เพื่อให้ผลการดำเนินงานในอนาคตเติบโตอย่างยั่งยืน”นายสมชาย กล่าว

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการผลิตเอทานอลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากปัจจุบันที่ผลิตเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่การจะขยายตลาดดังกล่าวนั้นจะต้องไม่กระทบตลาดในประเทศด้วย เช่น อาจจะเป็นการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังต้องศึกษาตลาดให้ชัดเจนก่อน

ส่วนกรณีปัญหามลภาวะเรื่องกลิ่นที่เกิดจากก๊าซชีวภาพที่พองขึ้นจากบ่อกักเก็บน้ำกากส่าหรือน้ำเสียของโรงงาน จนทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมสั่งให้บริษัททำการปรับปรุงแก้ไขโรงงานภายใน 3-4 สัปดาห์นับจากช่วงต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้บริษัทได้มีการแก้ไขและกำจัดก๊าซของเสียในโรงงานเอทานอลเรียบร้อยแล้ว

สำหรับสาเหตุเกิดมาจากปัญหาก๊าซชีวภาพในโรงงานที่เกิดในบ่อกักเก็บน้ำเสียก่อนบำบัด ซึ่งปกติจะมีผ้าคลุม แต่ช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.มีฝนตกค่อนข้างมาก จำเป็นต้องเอาน้ำบางส่วนใส่บ่อกลับเป็นเชื้อจุลินทรีย์จึงเกิดก๊าซฯขึ้นมาในอัตราที่รวดเร็ว โดยวิธีการกำจัดคือนำก๊าซฯไปเผาทิ้งหรือนำมารีไซเคิลกลับไปใช้ในบอยเลอร์ แต่ก็ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัด ได้เข้าไปตรวจและพบว่ามีการผลิตไอน้ำเกินมาตรฐานความจำเป็น จึงต้องแก้ไขใน 2 จุดดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้แก้ไขเสร็จแล้วภายใน 2-3 วัน ซึ่งอาจกระทบการผลิตบ้างเล็กน้อย แต่ไม่กระทบปริมาณการขายเพราะปัจจุบันการผลิตเอทานอลก็ได้เกินความต้องการของตลาดอยู่แล้ว 

Back to top button